xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์เผยส่งออกเม.ย.ยังโตดี-แต่แนวโน้มชะลอตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุการส่งออกไทยเดือนเมษายน 2568 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ระดับ 10.2%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยการส่งออกไทยยังคงได้รับแรงหนุนจากการเร่งส่งออกสินค้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยถูกขับเคลื่อนด้วยการส่งออกสินค้าไม่กี่รายการ ได้แก่ 1) คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบรวม HDDs 2) ICs และ 3) ทองคำไม่ขึ้นรูป ซึ่งหากหัก 3 รายการดังกล่าว การส่งออกไทยในเดือนเม.ย. ขยายตัวได้ไม่ถึง 1%

สำหรับการส่งออกไทยในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงแม้ยังอยู่ในช่วงที่สหรัฐฯ ระงับการปรับขึ้นภาษีนำเข้า 90 วัน ส่งผลให้การส่งออกไทยในไตรมาส 2/2568 คาดว่าจะขยายตัวไม่ถึง 10% เนื่องจากมีการเร่งส่งออกไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า และไทยเริ่มถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) เพิ่ม 10% ตั้งแต่เดือนเม.ย. ขณะที่การเจรจาไทย-สหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอน

ในระยะต่อไปการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 มีความเสี่ยงจะหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ หากถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2568 อยู่ที่ -0.5%

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)มองว่า แม้การส่งออกไทยเดือนเมษายนจะขยายตัวดี แต่การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะชะลอลงมาก โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปีอาจหดตัว เนื่องจาก 1) ผลกระทบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ เริ่มชัดขึ้น สะท้อนจากข้อมูลส่งออกของจีน, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นไปสหรัฐฯ ที่เริ่มหดตัวแล้ว เป็นสัญญาณว่าหากหมดช่วงที่สหรัฐฯ ชะลอการเก็บ Reciprocal tariffs ชั่วคราว 90 วัน และเริ่มเก็บภาษี Specific tariffs ครบทุกรายการ การค้าโลกกับสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มแย่ลง รวมถึงการผลิตโลกมีแนวโน้มชะลอลงอีก โดยเฉพาะการผลิตที่เชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) บางองค์ประกอบ เช่น คำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกหดตัวแรง และปริมาณงานค้างหดตัวต่อเนื่อง และ 3) ปัจจัยหนุนหลักของการส่งออกที่เคยเห็นในไตรมาส 1 เริ่มหมด เช่น วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, การเร่งส่งออก และปัจจัยทองพิเศษ

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ระบุมูลค่าส่งออกเดือน เม.ย. เติบโต 10.2%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่ 17.8% โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สวนทางกับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่การส่งออกไปตลาดหลักต่างขยายตัว ด้านการนำเข้าเร่งตัวสูงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 16.1%YoY ทำให้ดุลการค้ากลับมาขาดดุลที่ -3,321.3 ล้านดอลลาร์ฯ

ทั้งนี้ แม้การส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 68 เติบโต 14.0%YoY แต่การส่งออกไทยช่วงครึ่งปีหลังที่ระยะพักการขึ้น Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ หมดลง ผลกระทบต่อไทยจะชัดขึ้น ทั้งผลทางตรงจากอัตราภาษี ซึ่งยังมีความเสี่ยงที่จะสูงกว่า Universal Tariff 10% ผลจากส่วนต่างภาษี หากไทยถูกเก็บในอัตราสูงกว่าประเทศส่งออกอื่น และผลทางอ้อมจากการค้าโลกที่แย่ลง เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อ่อนแรง รวมถึงการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น