xs
xsm
sm
md
lg

PCEจับมือISF ตั้ง "นิทไทย สเปเชียลตี้ฯ” ลุยตลาดน้ำมันพืช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




"เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ " จับมือ Intercontinental Specialty Fats Sdn. Bhd. (ISF) บริษัทในเครือ The Nisshin OilliO Group, Ltd. ผู้ผลิตน้ำมันปรุงอาหารรายใหญ่ในญี่ปุ่น ร่วมทุนจัดตั้ง "นิทไทย สเปเชียลตี้ ออย แอนด์ แฟตส์จดทะเบียน 50 ล้านบาท ถือหุ้นสัดส่วน 60% คาดเดินหน้าธุรกิจได้ในเดือนต.ค.นี้ ลุยจำหน่ายน้ำมันพืชในไทย เน้นเจาะกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงร่วมพัฒนาน้ำมันปาล์มคุณภาพสูง ฟากผู้บริหารเผยด้วย Know-How จาก ISFผสานกับศักยภาพในด้านซัพพลายเชนครบวงจรของบริษัท หนุนการกระจายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความแข็งแกร่งผลักดันโอกาสเติบโตมั่นคง



นายพรพิพัฒน์ ประสิทธิ์ศุภผล รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) (PCE) ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรที่มีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาอนุมัติให้ PCE ร่วมทุนกับ Intercontinental Specialty Fats Sdn. Bhd. (ISF) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ The Nisshin OilliO Group, Ltd. ผู้ผลิตน้ำมันปรุงอาหารรายใหญ่ ของประเทศญี่ปุ่น ดำเนินการจัดตั้ง บริษัท นิทไทย สเปเชียลตี้ ออย แอนด์ แฟตส์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท โดยPCE ถือหุ้นในสัดส่วน 60%และ ISF ถือหุ้น 40% มีกำหนดจดทะเบียนจัดตั้งในเดือนกรกฎาคม 2568 และเริ่มดำเนินธุรกิจในเดือนตุลาคม 2568


โดยการจัดตั้ง บริษัท นิทไทย สเปเชียลตี้ ออย แอนด์ แฟตส์ จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อบุกตลาดน้ำมันพืชในไทย โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีการเติบโตในประเทศไทยต่อเนื่องเฉลี่ย 2-3% ต่อปี และเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ High Value Added Product ในอุตสาหกรรมอาหาร


“ISF มีจุดเด่นเรื่อง Know-How ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันพืชชนิดพิเศษเป็นอย่างดี รวมไปถึงไขมันสำหรับช็อกโกแลต เบเกอรี่ อาหารทอด ซึ่งเมื่อรวมกับศักยภาพของ PCE ที่มี Supply Chain น้ำมันปาล์มครบวงจรในไทย จะส่งเสริมให้การกระจายสินค้าและการเข้าถึงกลุ่มตลาดเป้าหมายเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มบริษัท PCE ในอนาคตอย่างยั่งยืน” นายพรพิพัฒน์ กล่าว


ปัจจุบัน PCE ดำเนินธุรกิจภายใต้การให้ความสำคัญต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงให้ความสำคัญด้านการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดน้ำมันปาล์มและอื่นๆ ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ปาล์ม เช่น น้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) และน้ำมันเมล็ดในปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPKO) โดยเพิ่มยอดการจัดจำหน่ายมากกว่า 40,000 ตันจากเดิม 15,000 ตัน และวางแผนการส่งออกกะลาปาล์มคุณภาพสูงไม่น้อยกว่า 120,000 ตันต่อปี อันเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร หนุนรายได้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน และคาดว่ารายได้ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 30,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น