บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI จัดอยู่ในโบรกเกอร์ขนาดใหญ่ เป็นเจ้าแห่งใบแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือดิริวาทีฟ วอร์แร้นต์ (DW) ซึ่งสร้างรายได้ที่ดีให้บริษัท และยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นจำนวนมาก แต่กำลังตกเป็นข่าวฉาวโฉ่สะเทือนวงการธุรกิจหลักทรัพย์
เพราะเตรียมแต่งตัว 2 บริษัทมหาชน เข้ามาระดมเงินจากประชาชน ทั้งที่มีปัญหาการดำเนินงานที่เข้าข่ายไม่โปรงใส ไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบพบความผิดปกติ และสั่งลงโทษ KGI ก่อนนำหุ้นใหม่เน่า ๆ เข้ามาสร้างความเสียหายให้นักลงทุน
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก.ล.ต.ประกาศสั่งพักการให้ความเห็นชอบ การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน KGI และผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน ประกอบด้วยนางศิริพร เหล่ารัตนกุลกับนางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต เป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากบกพร่องในการปฏิบัติงานในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้บริษัทมหาชนที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก หรือขออนุญาต IPO
ก.ล.ต. ตรวจสอบพบว่า KGI และผู้ควบคุมการปฏิบัติงานบกพร่องอย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ในการร่วมยื่นคำอนุญาต IPO ของบริษัทมหาชนจำกัด 2 บริษัท ซึ่งแสดงถึงความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือขาดความระมัดระวังรอบคอบอย่างมากในการตรวจสอบหรือสอบทานข้อมูลที่สำคัญ (due diligence) ของบริษัทที่จะทำ IPO
นางศิริพรเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน ซึ่งตรวจสอบพบข้อบกพร่องเกี่ยวกับการไม่วิเคราะห์และระบุความเสี่ยงในกระบวนการรับและส่งมอบงานของบริษัทมหาชน ซึ่งเป็นเหตุให้มีรายได้ค้างรับเป็นจำนวนมาก การไม่ตั้งประเด็นความผิดปกติของกระบวนการคัดเลือกและว่าจ้าง supplier และการขาดความระมัดระวังในการตรวจสอบความสมเหตุสมผลของการจ่ายค่าใช้จ่ายบางประเภท
ส่วนนางสาวสุวิมลเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน ซึ่งพบข้อบกพร่องเกี่ยวกับการไม่ได้ประเมินความเสี่ยงของระบบการให้สินเชื่อของบริษัทมหาชน และบกพร่องในการทำ due diligence กระบวนการพิจารณาสินเชื่อ ทั้งที่ระบบอาจยังขาดความรัดกุมไม่สมเหตุสมผล และไม่เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด รวมทั้งขาดความระมัดระวังรอบคอบในการทำ due diligence เกี่ยวกับสัญญาสินเชื่อประเภทขายฝากที่พบความผิดปกติและอาจมีความเสี่ยงในการบังคับหลักประกัน
ข้อบกพร่องที่ตรวจพบแสดงถึงการปฏิบัติงานที่บกพร่องของผู้ควบคุมการปฏิบัติงานทั้ง 2 รายอย่างร้ายแรงโดยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานและจรรยาบรรณเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพพึงกระทำ ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งแสดงถึงความบกพร่องของระบบในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ควบคุมในสังกัดของ KGI ซึ่งไม่สามารถควบคุมให้การปฏิบัติงานเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นไปตามมาตรฐานและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ
ก.ล.ต. จึงสั่งพักการให้ความเห็นชอบในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของ KGI ตลอดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบที่ยังเหลืออยู่ และกำหนดระยะเวลารับพิจารณาคำขอความเห็นชอบในครั้งต่อไป เมื่อพ้นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2568 รวมทั้งสั่งพักผู้ควบคุมการปฏิบัติงานรายนางศิริพรและนางสาวสุวิมล เป็นเวลา 1 ปี
ก.ล.ต.ระบุในตอนท้ายคำสั่งว่า ที่ปรึกษาทางการเงินมีบทบาทสำคัญ ในการคัดเลือกและกลั่นกรองคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดูแลให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน ถูกต้อง และเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน ผลงานของที่ปรึกษาทางการเงินมีความสำคัญอย่างมากกับผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง ที่ปรึกษาทางการเงินจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานในการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพและรักษาจรรยาบรรณวิชาชีพ
การสั่งพักใบอนุญาตการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน นำบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก โดย KGI เป็นบริษัทแรก ๆ ที่ถูกเชือด ซึ่งฟังจากมูลฐานความผิดแล้ว ทุกฝ่ายคงเห็นชอบกับคำสั่งของก.ล.ต. เพียงแต่บทลงโทษอาจเบาไปหน่อย
เพราะความผิดฐานบกพร่องอย่างร้ายแรง และไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานและจรรยาบรรณเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพพึงกระทำ อาจนำไปสู่การสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้ประชาชนผู้ลงทุน ถ้าบริษัทมหาชนทั้ง 2 แห่งที่ KGI เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน สามารถแต่งตัวบริษัทได้สำเร็จ
บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นด่านแรกที่จะตรวจสอบ คัดกรอง คุณสมบัติบริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถ้าบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินทุกราย ทำงานอย่างมืออาชีพ ยึดมั่นในจริยธรรมจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และตระหนักหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้ลงทุน
คงไม่มีการแต่งตัวหุ้นเน่า ๆ หลุดรอดเข้ามาปล้นเงินในตลาดหุ้น
แต่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่สำนึกดี อาจมีไม่มากนัก หุ้นเน่า ๆ นับร้อยบริษัทจึงหลุดเข้ามา โดยที่ปรึกษาทางการเงินบางแห่ง ช่วยวางแผนแต่งงบการเงินให้ดูดี สร้างตัวเลขกำไรมาอวดก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ฯ และดึงนักลงทุนขาใหญ่ เข้ามาร่วมสร้างราคาหุ้น ในวันแรกๆที่หุ้นเข้าซื้อขาย
ก.ล.ต.หย่อนยานต่อการกำกับ ดูแลและตรวจสอบพฤติกรรมของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินมานาน ปล่อยให้หุ้นเน่าหลุดรอดเข้ามาปล้นเงินนักลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนมาก จนเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินบางราย ร่ำรวยจากการแต่งตัวหุ้นใหม่นับพันล้านบาท
ถึงเวลาต้องเชือดบรรดาบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินตัวแสบกันจริง ๆ เสียที หลังจากเชือด KGI นำร่อง