ทีมเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo ฟันธงตรงไปตรงมานโยบายภาษีของทรัมป์อาจดูแข็งกร้าวแต่ไร้น้ำหนักต่อการฟื้นคืนตำแหน่งงานผลิตในประเทศ พวกเขาชี้ว่าต้นทุนที่พุ่งสูงและความไม่แน่นอนทางนโยบายเป็นตัวถ่วงสำคัญ พร้อมประเมินว่าหากหวังให้แรงงานภาคผลิตกลับมารุ่งโรจน์ จะต้องทุ่มทุนระดับ "ล้านล้านดอลลาร์" และใช้เวลาอีกหลายปี แถมยังถูกซ้ำด้วยปัจจัยประชากรที่กำลังหดตัวอย่างช้าๆ
แม้จะมีเสียงโหมโรงจากแคมเปญการเมืองว่า "อเมริกาต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง" ด้วยการดึงงานด้านการผลิตกลับคืนสู่ดินแดนลุงแซม แต่นักวิเคราะห์จากธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Wells Fargo กลับมองต่างออกไป
ในบทวิเคราะห์ล่าสุดของ ซาร่า เฮาส์ นิโคล่า เซวี่ และ อูเบร ออเบรย์ วอสเนอร์ สามนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารระบุชัดว่า นโยบายภาษีศุลกากรของรัฐบาลทรัมป์นั้น “ไม่น่าจะสามารถกระตุ้นการจ้างงานในภาคการผลิตของสหรัฐฯ ให้ฟื้นกลับมาได้ในอนาคตอันใกล้”
พวกเขาชี้ว่าความไม่แน่นอนของนโยบายและต้นทุนที่สูงขึ้นจากการเก็บภาษีนำเข้ากลายเป็นตัวถ่วงความสามารถในการขยายตัวของบริษัทในประเทศ
ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมปลายน้ำต่างถูกกดดันให้เลือกระหว่าง “ยอมกัดฟันแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” ซึ่งย่อมกระทบกำไรโดยตรง หรือ “ผลักภาระให้ผู้บริโภค” ด้วยการขึ้นราคาสินค้า ซึ่งในระยะยาวยิ่งถ่วงอัตราการจ้างงานลง
“ไม่ว่าบริษัทจะเลือกแนวทางไหน ก็ล้วนไม่เอื้อต่อการสร้างงานเพิ่ม” บทวิเคราะห์ระบุ
ยิ่งไปกว่านั้น ทีมงาน Wells Fargo ยังเตือนว่า ความฝันในการย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ จะไม่ใช่แค่ “ฝันไกล” แต่ยังเป็น “ฝันแพง” ด้วย เพราะต้นทุนแรงงานในสหรัฐฯ สูงกว่าหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
“การลงทุนเพื่อให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นฐานการผลิตอย่างแข็งแรง ต้องอัดฉีดเงินทุนใหม่ขั้นต่ำถึง 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งนั่นยังเป็นแค่ตัวเลขประเมินต่ำสุดเท่านั้น เพราะยังต้องคำนึงถึงเงินเฟ้อ และแนวโน้มที่ต้นทุนการลงทุนจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต”
โดยก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาปั่นกระแสตลาดอีกระลอกหลังโพสต์เดือดใน Truth Social ว่าสหรัฐเตรียมจัดหนักภาษีนำเข้าจากสหภาพยุโรป 50% พร้อมขู่เก็บภาษี iPhone ที่ผลิตนอกสหรัฐฯ อีก 25% หาก Apple ยังไม่ย้ายฐานการผลิตกลับบ้านเกิด
โดยทรัมป์ระบุชัดว่า EU ก่อตั้งขึ้นเพื่อ “เอาเปรียบสหรัฐฯ” ทางการค้า พร้อมโจมตีว่านโยบายเศรษฐกิจของยุโรปเต็มไปด้วยอุปสรรค ปัญหาภาษี การฟ้องร้องไม่เป็นธรรม และการกีดกันอย่างไร้เหตุผล ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากว่า 250,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเขาบอกว่า "ทนไม่ได้อีกต่อไป"
“ผมเสนอให้เริ่มเก็บภาษีนำเข้าจาก EU ที่ 50% ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2568 ถ้าสินค้าไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ ก็ต้องจ่าย!” ทรัมป์โพสต์
ขณะที่ในส่วนของ Apple บริษัทไอทีรายใหญ่ของสหรัฐก็ไม่รอด โดยทรัมป์เผยว่าเขาเคยเตือน Tim Cook แล้วหลายครั้งให้ผลิต iPhone ในอเมริกา ไม่ใช่ในอินเดียหรือประเทศอื่นๆ พร้อมขู่ว่า หากยังฝืนใจจะต้องเสียภาษีนำเข้าอย่างต่ำ 25%
ขณะเดียวกัน แรงสะเทือนโพสต์เดือดของทรัมป์นี้ สั่นสะเทือนทั้งวอลล์สตรีท โดยเฉพาะดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ปรับตัวร่วงลง 0.67% และ 1% ตามลำดับ ส่วนหุ้น Apple ปรับตัวลดลงร่วงถึง 3% ในทันที
นักวิเคราะห์มองว่าท่าทีแข็งกร้าวของทรัมป์สะท้อนว่า การหวนคืนเก้าอี้ประธานาธิบดีของทรัมป์ จะเป็นชนวนให้เกิดสงครามการค้าโลกรอบใหม่ที่ดุเดือดยิ่งกว่าเดิม โดยมีเทคโนโลยีและยุโรปเป็นเป้าหลัก
นอกจากนั้น ในบทวิเคราะห์ยังเปิดเผยมุมมองเชิงลึกอีกด้วยว่า การลดลงของอัตราการเจริญพันธุ์และแรงงานอพยพที่หดตัวลงเรื่อย ๆ ทำให้โครงสร้างประชากรในวัยแรงงานของสหรัฐฯ ไม่เอื้อให้ภาคการผลิตกลับมาเติบโตในรูปแบบเดิมได้ง่ายๆ
กล่าวโดยสรุป แม้นโยบายภาษีของทรัมป์จะดูเหมือนมุ่งคืนชีพอุตสาหกรรมภายในประเทศ แต่นักเศรษฐศาสตร์ยืนยันว่า ไม่มีไม้กายสิทธิ์ใดที่จะแปลงเศษเหล็กให้กลายเป็นโรงงานผลิตได้ในพริบตา การสร้างอุตสาหกรรมต้องใช้ “เงิน เวลา และคน” ซึ่งวันนี้สหรัฐฯ ยังไม่มีครบทั้งสาม