xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ร่วมปปง.เข้าตรวจสอบพนักงานแบงก์ เร่งออกเกณฑ์ภัยทุจริตดิจิทัลภายใน มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.ร่วมปปง.ตรวจสอบพนักงานแบงก์ช่วยเปิดบัญชีม้า พร้อมเร่งออกหลักเกณฑ์การบริหารจัดการภัยทุจริตดิจิทัล (Digital Fraud Management) ซึ่งครอบคลุมการยกระดับกระบวนการรู้จักลูกค้า (Know Your Customer: KYC) และการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence: CDD) คาดประกาศใช้เดือนมิถุนายนนี้

ตามที่ พล.ต.อ. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงข่าวกรณีพนักงานธนาคารสนับสนุนการเปิดบัญชีที่ใช้ในการกระทำผิดของขบวนการคอลเซ็นเตอร์ และสามารถขยายผลไปยังผู้ร่วมขบวนการรายอื่นได้อีกหลายราย เมื่อวันพุธที่ 21 พฤษภาคม 2568 นั้น

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สั่งการให้ธนาคารดังกล่าวเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงรายละเอียดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากในกรณีชาวต่างชาติมีความประสงค์จะเปิดบัญชีในประเทศไทย ธปท. กำหนดให้ธนาคารต้องมีกระบวนการพิจารณาเอกสารการระบุตัวตนและพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าอย่างรัดกุม ซึ่งหากไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ธนาคารต้องแก้ไขในทันที  นอกจากนี้ หากพบว่าพนักงานของธนาคารมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าว ธนาคารต้องลงโทษขั้นเด็ดขาด ทั้งนี้ ธปท. และสำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกทางหนึ่ง หากพบการดำเนินการที่ขัดกับข้อกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ของ ธปท. ทางการจะดำเนินการทางกฎหมายกับธนาคารต่อไป

นอกจากนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางการเงิน ธปท. อยู่ระหว่างออกหลักเกณฑ์การบริหารจัดการภัยทุจริตดิจิทัล (Digital Fraud Management) ซึ่งครอบคลุมการยกระดับกระบวนการรู้จักลูกค้า (Know Your Customer: KYC) และการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence: CDD) โดยกำหนดให้ธนาคารตรวจสอบข้อมูลลูกค้าที่มาขอเปิดบัญชีจากฐานข้อมูลอื่นนอกเหนือจากเอกสารแสดงตัวตนที่ลูกค้านำมาให้ เช่น ต้องตรวจสอบชื่อกับฐานข้อมูลบัญชีม้าของสำนักงาน ปปง. และต้องประเมินความเสี่ยงที่ลูกค้าจะนำไปใช้บัญชีไปใช้เป็นบัญชีม้า รวมถึงต้องจัดกลุ่มลูกค้าตามระดับความเสี่ยง (customer profiling) และใช้มาตรการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมกับกลุ่ม เช่น จำกัดวงเงินการทำธุรกรรมต่อวันให้เหมาะสม  ลดเพดานวงเงินที่ต้องใช้การสแกนใบหน้าสำหรับบัญชีใหม่ เป็นต้น โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์คาดว่าจะบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น