นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(23พ.ค.68)ที่ระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.84 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-33.00 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.79-32.95 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่ในช่วงบ่ายวันก่อนหน้า เงินบาทได้ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการรีบาวด์สูงขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำ รวมถึงการส่งสัญญาณจากทางรัฐมนตรีฯ พาณิชย์ ที่อยากให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่าง 36-37 บาทต่อดอลลาร์ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทก็ดูจำกัดลงแถวโซนแนวต้านแรก 32.95-33.00 บาทต่อดอลลาร์
แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันจากการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งได้อานิสงส์จากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) เดือนพฤษภาคม ที่ล้วนออกมาดีกว่าคาด สวนทางกับรายงานดัชนี PMI จากฝั่งยุโรปที่ออกมาผสมผสาน ทว่า ราคาทองคำก็ยังคงสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นได้และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ใกล้โซนแนวต้านดังกล่าว
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ ในเดือนเมษายน เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ (โอกาส 60%)
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้
และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะติดตาม สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ไปก่อน ในช่วงโซน 32.55-33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยราคาทองคำยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง Two-Way risk ที่อาจทำให้เงินบาทสามารถเคลื่อนไหวแข็งค่า หรือ อ่อนค่าลงได้ ตามทิศทางราคาทองคำ เนื่องจากราคาทองคำ ก็ยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways เช่นกัน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะสามารถทยอยกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจนอีกครั้ง ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend Following
ทั้งนี้ แม้ว่า เงินบาทดูจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง จากถ้อยแถลงของรัฐมนตรีฯ พาณิชย์ ที่มองว่า ระดับค่าเงินบาทที่เหมาะสมคือช่วง 36-37 บาทต่อดอลลาร์ แต่เราขอเน้นย้ำว่า ประเด็นของค่าเงินนั้นจะมีทั้งผู้มีส่วนได้และส่วนเสีย (หากเงินบาทอ่อนค่าเกินไป ก็จะกระทบฝั่งผู้นำเข้า ซึ่งปัจจุบันก็เผชิญแรงกดดันจากภาวะการแข่งขันสูงของสินค้าราคาถูกจากจีน) ทำให้เรามองว่า การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญที่สุด และไม่มีระดับค่าเงินที่เหมาะสมอย่างแท้จริง นอกเสียจากการประเมินในเชิง Valuation (อาทิ การประเมินด้วย BEER เป็นต้น) ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงินก็ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับ Valuation ได้ในบางช่วงเวลา