xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีหุ้นไทยแกว่ง-ลุ้นแตะ 1,200 จุด Upside จำกัดแนะลงทุนระมัดระวัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กูรูประเมินหุ้นไทยฟื้นต่อเนื่อง ลุ้นเดือน พ.ค.ทะลุ 1,200 จุด จับตา 3 ปัจจัย “ Pivot Yield – เจรจาการค้า – นโยบายลงทุน ” ลดความเสี่ยงประมาณการ GDP ขณะ บล.พาย ประเมินตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2 เชื่อว่า Upside จะเริ่มจำกัด และ บล.ดาโอ มองดัชนีตลาดหุ้นไทยเดือนนี้ยืนเหนือระดับ 1,200 จุดได้ ให้เป้าหมายที่ 1,200-1,250 จุด และภาพรวม 1-3 เดือนข้างหน้า ยังคงเน้นกลยุทธ์เชิงรุกแบบระมัดระวัง ด้าน บล.ทิสโก้ มองระยะสั้นหุ้นไทยมีแนวโน้มฟื้นรับเงินกองทุน ThaiESGX และการเจรจาการค้าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วน บล.เอเซีย พลัส” แจงแรงขายหุ้นไทยเดือน พ.ค. ยังมี Sell in May จากสงครามการค้าป่วน กระทบเศรษฐกิจไทยปีนี้ต่ำสุดในอาเซียน คาดดัชนีฯ ผ่านจุดต่ำสุดแล้วที่ 1,060 จุด

หุ้นไทยเดือน พ.ค.ยังคงแกว่งและรอปัจจัยใหม่เข้ามาหนุน หลังจากช่วงที่ผ่านตลาดรับรู้ปัจจัยรอบด้านไปมากแล้ว รวมทั้งช่วงเวลาของการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนที่จบลง แม้กระนั้นดัชนีหุ้นไทยก็ยังไม่กระเตื้องนัก ล่าสุดจีนประกาศลดดอกเบี้ย ส่งผลให้เช้านี้ (21 พ.ค.) หุ้นไทยเปิดตลาดบวกขึ้น 3.74 จุด และเมื่อเวลา 11.40น.ดัชนีอยู่ที่ 1,194.86 จุด เพิ่มขึ้น 5.72 จุด หรือ 0.48 % ต้องลุ้นตัวเลขให้ทะลุเหนือ 1,200 จุด จะไปถึงหรือได้ไกลเพียงใด ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าดัชนีหุ้นไทยเดือน พ.ค.ยังไม่ขยับจากกรอบเดิมที่ประเมินไว้ รอปัจจัยบวกอื่นๆ หนุน

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.กรุงศรี ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะ 2-4 สัปดาห์ข้างหน้า โดยประเมินกรอบดัชนี SET ไว้ที่ 1,200–1,210 จุด และหากผ่านแนวต้าน 1,254 จุดได้ จะเปิดโอกาสขึ้นต่อสู่ระดับ 1,300–1,350 จุด จาก 3 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อประมาณการ GDP ไทยและฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน

โดย 3 ปัจจัยหนุน SET ฟื้นตัวคือ Pivot Yield ใกล้เกิดหนุนสินทรัพย์เสี่ยง เพราะ Bond Yield สหรัฐฯ เริ่มลดลง -10bps หลังการตอบรับข่าวลดเครดิตเรตติ้งเริ่มจางหาย และเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวตั้งแต่ พ.ค 2025 หนุนกลุ่ม High Beta เช่น เทคโนโลยี, โรงไฟฟ้า, ลีสซิ่ง , เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ยุค “การค้าแยกภูมิภาค” กล่าวคือ Global Trade แยกออกเป็นบล็อกภูมิภาคมากขึ้น ส่งผลบวกต่อ Logistic, นิคมอุตสาหกรรม, โครงสร้างพื้นฐานไทยที่แข่งขันได้ และไทยเดินเกม “ลงทุนโครงสร้างใหม่” แทน Digital Wallet โครงการใหม่มูลค่ารวมเฉียด 1 แสนล้านบาท เช่น Data Center, พลังงานสะอาด, น้ำ-คมนาคม, เมืองรอง และ SME Efficiency Boost เปลี่ยนจากแจกเงิน เป็นการสร้างขีดความสามารถระยะยาว มองเศรษฐกิจจีนยังเสถียร พร้อมฟื้นจึงสนับสนุน Sentiment ภาคส่งออกไทยและราคาสินค้าโภคภัณฑ์

ขณะปัจจัยหนุนด้านการเงิน ค่าเงินบาทแข็งค่าแตะ 33.15 บาท/ดอลลาร์ และ Foreign Outflow ชะลอ แต่ TFEX Long สูงถึง 3,394 สัญญา อีกทั้งรัฐเตรียมผ่อนเกณฑ์ภาษีนำเงินกลับประเทศ จะเพิ่มสภาพคล่อง ตามด้วยผลการดำเนินงาน บจ.ไตรมาสแรกดีกว่าคาด

สำหรับ กลยุทธ์แนะนำสะสมหุ้นกำไรดีและได้ประโยชน์จากนโยบาย” กลุ่ม Domestic Play อย่าง STECON, CK ,SCC , AOT , WHA, AMATA , KBANK, SCB

และ กลุ่ม Infra Tech / Utilities อย่าง GULF, GPSC และ ADVANC, TRUE, INSET รวมทั้งกลุ่มส่งออก เพราะจีนฟื้น อย่าง KCE, HANA เกษตรอย่าง GFPT, CPF และ ปิโตรฯ ทั้ง IVL, PTTGC, SCGP

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.กรุงศรี
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงแรงเมื่อสัปดาห์ก่อน มองว่าเกิดจากปัจจัยลบจากการรายงานกำไรของ AOT ที่ต่ำกว่าคาด ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นออกมา ขณะที่ไม่ได้มาจากปัจจัยการเมืองอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล เพราะปัจจัยลบของ AOT เป็นตัวเดียวที่ทำให้ตลาดปรับตัวลง ไม่ต้องไปโยงเรื่องการเมือง เนื่องจากการที่ AOT มีกำไรต่ำกว่าคาดเนื่องจากมีรายการพิเศษที่กระทบผลประกอบการ

นายมงคล พ่วงเภตรา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ มองว่า ตลาดไทยมีกระแสเงินไหลเข้าตามภูมิภาคเอเชีย หลังการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ มีความคืบหน้าไปมาก และดูผ่อนคลายมากขึ้น เป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงต้นเดือน พ.ค.

ขณะเดียวกันมีปัจจัยสำคัญ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนและการ ทยอยรายงานกำไรของบริษัทจดทะเบียน ส่วนใหญ่ที่รายงานไปแล้ว กำไรออกมาดี คาดกำไรตลาดหุ้นไทย ไตรมาสแรกจะจบลงที่ 2.41 แสนลบ. ลดลง 10% เทียบปีก่อน แต่ สูงขึ้น 37% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน

ดังนั้น โดยรวมยังมองดัชนีตลาดหุ้นไทย เดือน พ.ค.จะยืนเหนือระดับ 1,200 จุดได้ โดยเป้าหมายมองไว้ที่โซน 1,200-1,250 จุด และภาพรวมช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า ยังคงเน้นกลยุทธ์เชิงรุกแบบระมัดระวัง (Cautiously Optimistic) โดยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่มีศักยภาพการเติบโตภายใต้เงื่อนไขพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตด้วยสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ

นายมงคล พ่วงเภตรา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ
สำหรับ กลยุทธ์ลงทุน แนะนำเลือกขายทำกำไรหุ้นที่ราคาขึ้นมามาก เพื่อสลับเปลี่ยนลงทุนในหุ้นที่ราคายังไม่ปรับตัวขึ้นมาก (Laggard play) โดยหุ้นที่คาดว่าเป็นเป้าหมายนักลงทุนได้แก่ AMATA, NTL, STA, BDMS, ITC, TOP, HANA , BGRIM และหุ้นกลุ่มที่ได้ปรัโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน คือ กลุ่มปิโตรเคมี และ อีเล็คทรอนิคส์ หุ้นน่าสนใจของ 2 กลุ่มนี้คือ SCGP, IVL, PTTGC, CCET, DELTA

บล.พาย ประเมินตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2 เชื่อว่า Upside จะเริ่มจำกัดช่วงที่ผ่านมา SET INDEX ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดมาแล้ว 13% รับข่าวบวกจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศประกอบกับสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจเว้นการขึ้นภาษีอัตราสูงออกไปเป็นเวลา 90 วัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมองไปข้างหน้าแล้วเชื่อว่าการเจรจาจะยืดเยื้อใช้เวลา คล้ายกับที่เกิดขึ้นช่วงปี 2018 - 2019 ที่การเจรจา ยืดเยื้อ หาข้อสรุปได้และไม่ได้หรือต่อให้เจรจาได้ เชื่อว่าการเติบโตเศรษฐกิจโลกยังจำกัด ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศ โอกาสที่สหรัฐฯ จะไม่ใช้กำแพงภาษีกับจีนแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจะประสบปัญหามากขึ้น โดยธรรมชาติแล้วตลาดหุ้นมักชอบภาวะที่เศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโต ในอีกมุมหลายๆ ประเทศอาจพยามหาตลาดใหม่เพื่อพึ่งพิงสหรัฐฯ ให้น้อยลง จึงอาจเกิดการทุ่มตลาดของแต่ละประเทศกดดันผู้ประกอบกาภายในประเทศนั้นๆ ส่วนไทยต้องเฝ้าระวังการทุ่มราคาของสินค้าจากจีน

ขณะเดียวกันหากไม่มีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับนานาประเทศและกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ต่อไทย เศรษฐกิจไทยก็ขยายตัวต่ำ (2-3% ต่อปี) แต่หากเป็นกรณีเลวร้ายคือไทยเผชิญการเก็บภาษีสูงจากสหรัฐฯ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ กลยุทธ์การลงทุนจึงไม่ควรประมาทและเพิ่มการถือครองเงินสด หากดัชนีปรับลงไปในช่วง 1,150 ต่ำลงไปจะเป็นจุดที่เหมาะกับการลงทุนระยะกลาง เน้นที่หุ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรม อาทิ โรงพยาบาล (BDMS) ค้าปลีก (CPALL) ศูนย์การค้า (CPN) ธนาคาร (BBL KBANK KTB SCB)

ส่วนทองคำเชื่อว่าจะเห็นการปรับขึ้นที่ Upside จำกัดหรืออาจพักฐานสาเหตุจากว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศเสมือนกับว่าผ่านจุดแย่ที่สุดไปแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาทองคำปรับขึ้นเพราะความกังวลนโยบายภาษีของสหรัฐฯ และสงครามการค้ากำลังเข้าสู่ช่วงของการเจรจา ทำให้ความตึงเครียดจะเริ่มน้อยลงเมื่อประกอบกับนโยบายการเงินของ FED ที่ไม่น่าจะเร่งลดดอกเบี้ยในเร็วๆ เพราะความกังวลเงินเฟ้อยังคงปลกคลุม จึงอาจต้องลดสัดส่วนทองคำลงบ้าง

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้  มองว่าปัจจุบันดัชนีหุ้นไทย อยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากความหวังการเจรจาการค้าและเงินกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ ThaiESGX ไหลเข้า แต่ Upside จำกัดแถวระดับ 1,200 จุด โดยมองว่าช่วงนี้เป็น จังหวะขายมากกว่าซื้อ หรือหมุนทำรอบเทรดติ้งสั้นไวขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นของดัชนีมาจากความหวังความคืบหน้าในการเจรจาการค้า หลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้กับนานาประเทศเพียง 10% ยกเว้นจีน และเปิดทางเจรจาเป็นเวลา 90 วันไปจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ประกอบกับทรัมป์มีท่าทีที่อ่อนลงเกี่ยวกับการทำสงครามการค้ากับจีน เป็นผลดีต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวม

นอกจากนี้ หุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกจากการออกกองทุน ThaiESGX นอกจากจะช่วยรองรับการไถ่ถอนเงินจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF แล้ว จะมีเม็ดเงินใหม่ทยอยไหลเข้าในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนนี้ โดย บล.ทิสโก้ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินย้ายจากกองทุน LTF เข้ากองทุน ThaiESGX ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทจากปัจจุบันที่มีกองทุน LTF คงค้างประมาณ 1.6 แสนล้านบาท และจะมีเม็ดเงินลงทุนใหม่ราว 1 หมื่นล้านบาท" นายอภิชาติกล่าว

อย่างไรก็ดี พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ สังเกตได้จากหลายสำนักทยอยปรับลดคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยลงล่าสุด IMF ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2568 ลงเหลือ 1.8% จากประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 2.9% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่วนประมาณการเติบโตของ GDP ไทยปี 2569 คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 1.6% เท่านั้น ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย

ขณะงบไตรมาสแรกของตลาดโดยรวม (Bloomberg Con-sensus) คาดลดลง -9% เทียบปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น +17% จากไตรมาสก่อน และมีกำไรสุทธิรวม 1.73 แสนล้านบาท ขณะที่แนวโน้ม SET EPS ยังมีโอกาสปรับลงต่อ โดยตั้งแต่ต้นปีนี้ คาดการณ์ SET EPS ปีนี้ และปีหน้าถูกปรับลงต่อเนื่องจาก 95.3 บาท และ 103.1 บาท เป็น 92.2 บาท และ 99.3 บาท หรือ 3.4% และ -3.7% ตามลำดับ

นอกจากนี้ เป้าหมาย SET Index ของตลาดยังถูกปรับลงเช่นกันตั้งแต่ต้นปี ล่าสุดอยู่ที่ 1,415 จุด การปรับลดลงทั้งประมาณการ GDP และ SET EPS ทำให้การฟื้นตัวของตลาดมี Upside จำกัด อย่างไรก็ดี บล.ทิสโก้มองการประกาศผลประกอบการยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนราคาหุ้นเฉพาะตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม และด้วยความคาดหวังของตลาดค่อนข้างต่ำเกี่ยวกับการประกาศผลประกอบการในไตรมาสนี้ หากงบออกมาดีกว่าคาดน่าจะช่วยกระตุ้นราคาหุ้นปรับขึ้นได้ง่าย

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส
ดังนั้น บล.ทิสโก้มอง SET Index อยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากความหวังการเจรจาการค้าและเงินกองทุน ThaiESGX ไหลเข้า แต่ Upside เริ่มจำกัดแถวระดับ 1,200 จุด เป็นจังหวะขายมากกว่าซื้อ หรือหมุนทำรอบเทรดดิ้งสั้นไวขึ้น แต่ประเด็นหุ้นที่น่าสนใจคือหุ้นใน SET50 Index ที่มี ESG Rating ระดับ A ขึ้นไป กำไรเติบโต และมี Upside จากมูลค่าที่เหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐานมากกว่า 20% ขึ้นไป แนะนำ BDMS, BEM, CPALL, CPF และ GULF ส่วนหุ้นที่น่าเก็งงบ Q1 คาดออกมาดีเทียบปีก่อน และ Q2 ยังมีแนวโน้มเชิงบวก ชอบ CPF, FM และ 3) หุ้นอื่นๆ เช่น HANA (บล.ทิสโก้ปรับคำแนะนำขึ้นเป็น "ซื้อ" แม้กำไรไตรมาส 1/2568 ยังอ่อนแอจากปีก่อน แต่ดีขึ้นจากที่ขาดทุนเทียบไตรมาสก่อน และมูลค่าหุ้นน่าสนใจ PBV เพียง 0.6x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวถึง -2SD นอกจากนี้ยังมีเงินสดในมือกว่า 3 พันล้านบาท มีโอกาสการซื้อหุ้นคืนและการจ่ายเงินปันผลพิเศษหากการร่วมทุนกับกลุ่ม ปตท. หรือ FT1 ถูกยกเลิก

ดังนั้น หุ้นเด่นที่ บล.ทิสโก้แนะนำในเดือน พ.ค. คือ BDMS, BEM, CPALL, CPF, FM, GULF และ HANA ด้านแนวรับเดือนนี้อยู่ที่ 1,155-1,160 จุด แนวรับต่อไปที่ 1,140 จุด และแนวต้านสำคัญเดือนนี้อยู่ที่ 1,200-1,210 จุด และ 1,250 จุด ตามลำดับ

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส เปิดเผยว่า สถานการณ์ Sell in May ในตลาดหุ้นไทยเดือนพ.ค. มองโอกาสเกิดแรงขายหุ้นไทยยังคงมีอยู่ ด้วยกระแสความไม่แน่นอนสูงทั้งจากสงครามการค้าสหรัฐกับประเทศคู่ค้าต่างๆ รอความชัดเจนไปจนถึงเดือนก.ค. น่าเป็นช่วงที่กำลังปั่นป่วนพอสมควรในกระแสต่างๆ ต้องรอประเมินสถานการณ์ และติดตามผลการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่เริ่มมีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีไทยปีนี้แล้ว ให้กรอบดัชนีเดือนพ.ค. แนวรับไม่ต่ำกว่า ระดับ 1,060 จุด และแนวต้าน 1,180 จุด

อย่างไรก็ตาม ตลาดรับข่าวลดดอกเบี้ยลงในภาวะที่มีความสุ่มเสี่ยงในเชิงเศรษฐกิจ ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำสุดใน “ภูมิภาคอาเซียน” คาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เติบโต 1.5-1.6% สอดคล้องกับสำนักงานเศรษฐกิจต่างๆ คาดการณ์เติบโต 1-2% ทำให้การปรับลดดอกเบี้ยรอบนี้ มีผลต่อเซนติเมนต์ในตลาดหุ้นไทยบ้างแต่ไม่มากนัก

“แม้ขณะนี้ภาพรวมในเชิง Valuation ของหุ้นไทยถือว่าถูกแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะถูก Sell in May ยังคงมีอยู่ มองว่าดัชนีหุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,060 จุดแล้ว ในวันที่สหรัฐตั้งกำแพงกับไทยที่ 36% เป็นวันที่ตลาดหุ้นไทยรับผลกระทบหนักที่สุดจากสงครามการค้า หลังจากนั้นสถานการณ์ผ่อนคลายมากขึ้น”

สำหรับ “กลยุทธ์การลงทุน” หุ้นเด่นให้เป็นหุ้นขนาดกลางและใหญ่ ยังมีความน่าสนใจ ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ดี และกำไรยังมีโอกาสเติบโตดี อย่าง SCC, CPALL, BDMS, WHA ขณะหุ้นกลุ่มแบงก์ได้รับผลกระทบล่วงหน้าและราคาหุ้นค่อนข้างถูกมากแล้ว ปัจจุบันให้ปันผลเฉลี่ย 7-8% ค่อนข้างสูง ดังนั้น ผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยในระยะสั้นจะเห็นราคาหุ้นปรับลงมา แต่มองราคาหุ้นแบงก์ปรับลงมารอบนี้เป็นจุดที่น่าจะทยอยเข้าไปสะสมแล้ว

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์ Sell in May ปีนี้ มองผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยเดือนพ.ค.นี้ “ดาวไซด์จำกัด” โดยปกติเดือนนี้ตลาดหุ้นไทยมักมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนทยอยขึ้นเครื่องหมาย XD และทำให้นักลงทุนต่างชาตินำเงินกลับประเทศส่งผลให้ค่าเฉลี่ย 10 ปีไม่รวมช่วงโควิด 19 มีมูลค่าราว 10,890 ล้านบาท และผลตอบแทนของ SET Index ในเดือนพ.ค. - 0.9%

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ศึกษาการเคลื่อนไหวของดัชนี พบว่า SET Index น่าจะปรับตัวลงในช่วงครึ่งแรกของเดือน พ.ค. และทยอยฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลัง ดังนั้น “เชิงกลยุทธ์การลงทุน” มองว่า เน้นไปที่การพักเงินในหุ้นที่มี SET ESG Rating สูงมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ดีกว่า SET Indexเพราะได้แรงหนุนจากเม็ดเงินใหม่ของกองทุนThai ESGX ซึ่งจะช่วยจำกัด ดาวน์ไซด์ได้ ได้แก่ CPALL, GPSC, BEM, GULF, KBANK, KTB, MTC ,THCOM

ส่วนช่วงครึ่งหลังเดือน พ.ค. จากสถิติพบว่า อุตสาหกรรมที่เคลื่อนไหวได้ดีกว่าตลาด (Outperform) คืออาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มที่บริษัทมักจะให้ Guidance ที่ดี เพราะไตรมาส 2 ปี 2568 เป็นช่วง High Season ได้แก่ ICHI, OSP ,CPF, BTG รวมไปถึง กลุ่มไฟแนนซ์ที่มีปัจจัยหนุนเพราะ ทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ กนง. อย่าง SAWAD และ MTC


กำลังโหลดความคิดเห็น