xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้สินเชื่อแบงก์ติดลบ NPL เพิ่ม เร่งปรับเงื่อนไข”คุณสู้ เราช่วย”มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.เผยภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาศแรก ปี2568 สินเชื่อติดลบ 1.3% ติดลบติดต่อกัน 3 ไตรมาศ คาดสินเชื่อยังคงหดตัวต่อเนื่องไปอีก 2 ไตรมาศ สาเหตุจากความเสี่ยงยังคงอยู่ในระดับสูงจากสงครามการค้าและการแข่งขัน ย้ำดอกเบี้ยนโยบายไม่ช่วยกระตุ้นสินเชื่อ เป็นเพียงลดภาระของลูกหนี้ จับตา NPL ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% พร้อมเร่งปรับเงื่อนไข “คุณสู้เราช่วย” ชัดเจนมิถุนายน 2568 โดยย้ำไม่ใช่แค่ค้าง 1 วันก็เข้าร่วมได้

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 1 ปี 2568 หดตัวอยู่ที่ 1.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน หดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาศโดย คาดว่าไตรมาส 2 นี้ สินเชื่อธนาคารยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร และลูกหนี้ จึงมีความเข้มงวดไม่กล้าปล่อยกู้ ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังขยายตัว ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวต่อเนื่อง ตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังอยู่ในระดับสูง

“การส่งผ่านการลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้เกิดการกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ การที่ไม่ได้ปล่อยกู้เป็นเรื่องของความเสี่ยงผู้กู้มากกว่า แต่การลดดอกเบี้ยเป็นการลดภาระของผู้กู้ ซึ่งการลดดอกเบี้ยนโยบายรอบล่าสุดนี้ มีการ ส่งผ่านน้อยกว่าสองรอบที่ผ่านมา”ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท. กล่าว


ส่วนยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้( NPL) ไตรมาส 1 ปี 2568 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 548.1 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.90% ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยสัดส่วน NPL ของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเช่าซื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นผลของฐานสินเชื่อที่ลดลง สำหรับสินเชื่อ Stage 2 ปรับลดลง โดยหลักจากการชำระคืนหนี้ของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่งผลให้สัดส่วน stage 2 ทรงตัวอยู่ที่ 6.97%

อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบริหารจัดการคุณภาพหนี้ สำหรับผลการดำเนินงานปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลง (ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงซึ่งเป็นปัจจัยฤดูกาลในไตรมาสก่อนและค่าใช้จ่ายด้าน IT) และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (เงินลงทุนและการวัดมูลค่าตราสารทางการเงิน) ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 


ทั้งนี้ ยังต้องติดตามภาวะการเงินที่ยังตึงตัวและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีภาระหนี้สูง รวมถึงธุรกิจและครัวเรือนที่อาจได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมต่อฐานะการเงินจากผลกระทบของนโยบายการค้าโลก ตลอดจนติดตามผลสำเร็จของการให้ความช่วยเหลือภายใต้โครงการคุณสู้เราช่วย โดยธปท. กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาปรับเงื่อนไขมาตรการคุณสู้เราช่วย ซึ่งต้องเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆ ด้วยโดยปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปในรายละเอียดออกมา คาดว่าจะชัดเจนในกลางเดือน มิ.ย.หรือปลายเดือนมิถุนายนนี้ ก่อนที่โครงการฯจะสิ้นสุดระยะมาตรการ

ส่วนความคืบหน้าการปรับโครงสร้างหนี้ ในไตรมาสแรกปี 68 ยอดช่วยเหลือสะสม 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็น 8 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ธนาคารรัฐเป็นหลัก ส่วนโครงการคุณสู้เราช่วย มีขอความช่วยเหลือ 1.3 ล้านราย คิดเป็น 1.7 ล้านบัญชี ตรวจสอบแล้วสามารถเข้าร่วมได้ 5.8 แสนราย คิดเป็น 30% โดยมียอดหนี้ 4.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 48% ของผู้ลงทะเบียนส่งผลให้หนี้ครัวเรือลดลง ณ ไตรมาส 4 ปี 67 ยู่ที่ 88.4% ต่อจีดีพี คาดว่าแนวโน้มไตรมาสแรกของปี 2568 ตัวเลขที่จะออกมาเดือน มิ.ย. อาจจะลดลงต่ำกว่า 88%


กำลังโหลดความคิดเห็น