กฎเหล็กใหม่จากธนาคารกลางรัสเซียจ่อปิดประตูซื้อขาย USDT สำหรับนักลงทุนในประเทศ หวั่นกระทบเสถียรภาพการเงินและเปิดช่องแทรกแซงจากชาติศัตรู แม้ยังเปิดช่องให้ภาคธุรกิจใช้เหรียญในการค้าข้ามแดน แต่ตลาดในประเทศอาจสั่นคลอน เหรียญดังอย่าง USDT เข้าข่ายเสี่ยงโดนห้ามในเชิงปฏิบัติ ขณะที่กฎระเบียบใหม่เน้นใช้เฉพาะเหรียญจาก "ประเทศมิตร" เท่านั้น
ธนาคารกลางรัสเซียออกกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีที่อาจทำให้การซื้อขายเหรียญ USDT หรือ Tether ในประเทศกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายในทางปฏิบัติ โดยกฎฉบับดังกล่าวกำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมอนุมัติการดำเนินงานในแซนด์บ็อกซ์คริปโตของรัสเซีย
ตามรายงานของสำนักข่าว RBC แม้กฎใหม่จะไม่ห้ามบริษัทภายในรัสเซียใช้ USDT หรือ stablecoin อื่น ๆ สำหรับธุรกรรมการค้าข้ามแดน แต่สำหรับ "นักลงทุน" ทั่วไปที่ต้องการซื้อขายเหรียญเหล่านี้ในประเทศ กลับต้องเผชิญข้อจำกัดหนักหน่วง
เหรียญเสมือนดอลล่าร์ดิจิทัลสายอเมริกันถูกตีตรา "ไม่เป็นมิตร"
กฎใหม่ระบุชัดว่าเหรียญที่จะสามารถนำมาซื้อขายในแซนด์บ็อกซ์ได้ ต้องไม่เกี่ยวข้องกับผู้ออกเหรียญจาก "ประเทศที่ไม่เป็นมิตร" ซึ่งหมายถึงชาติที่กำลังบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย หรือมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อมอสโก และจะพิจารณาให้ใช้เฉพาะเหรียญจากประเทศ "ที่เป็นมิตร" เท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น กฎยังครอบคลุมถึงเหรียญที่อาจถูก "บล็อก" ได้โดยผู้ออกเหรียญ ผู้ให้บริการ หรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมเหรียญ ซึ่งเท่ากับว่าหากเหรียญใดมีโอกาสถูก "หยุด" หรือ "อายัด" ได้โดยหน่วยงานนอกประเทศ ก็อาจหมดสิทธิ์หมุนเวียนในตลาดรัสเซียทันที
USDT เข้าเกณฑ์เสี่ยงเต็มขั้น
แม้ธนาคารกลางจะไม่ได้ระบุชื่อเหรียญใดอย่างชัดเจน แต่ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นตรงกันว่า เหรียญ stablecoin ที่ผูกกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะ USDT ซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดในโลก กำลังตกอยู่ในสถานะ “ไม่ผ่านเกณฑ์”
มิคาอิล อุสเปนสกี้ สมาชิกสภาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎระเบียบคริปโตของรัสเซีย ระบุว่า “USDT ไม่เข้าเกณฑ์ใหม่ของธนาคารกลาง หมายความว่าไม่สามารถนำมาหมุนเวียนในประเทศได้” แม้ว่าในภาคการค้าข้ามแดนยังพอใช้งานได้อยู่บ้างก็ตาม
Tether เสี่ยง "ดับเครื่องชน" ด้วยนโยบาย KYC
จอร์จี กูคาเซียน ผู้อำนวยการฝ่ายภาษีและกฎหมายของ DRT กล่าวเสริมว่า การแลกเหรียญ USDT คืนเป็นเงินดอลลาร์จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ถือโทเคนผ่านการตรวจสอบตัวตน (KYC) และมาตรการต่อต้านการฟอกเงิน (AML) เท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ "สอดคล้องโดยตรง" กับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อรัสเซีย
เขาเตือนว่า Tether ในฐานะผู้ออกเหรียญ มีสิทธิ์ปฏิเสธการแลกเหรียญหรือแม้แต่ "บล็อก" โทเคนในกระเป๋าเงินของผู้ใช้ได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะหากผู้ใช้นั้นไม่ผ่านมาตรการตรวจสอบ หรือมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายของการใช้งาน
บทเรียนจาก Garantex ถูกแบนทั้งโดเมนและเงิน
กรณีตัวอย่างที่ตอกย้ำความเสี่ยงนี้คือ การแลกเปลี่ยนคริปโตของรัสเซียชื่อ Garantex ที่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดนสหรัฐฯ ยึดโดเมน และอายัดเงินกว่า 26 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน Tether ก็ให้ความร่วมมือกับฝั่งวอชิงตันด้วยการสั่ง “ล็อก” โทเคน USDT ที่เกี่ยวข้องกับ Garantex ไปหลายล้านเหรียญ
Stablecoin ตัวอื่นอาจไม่รอด?
แม้ชื่อ USDT จะถูกพูดถึงมากที่สุด แต่เหรียญ stablecoin อื่นที่มีต้นกำเนิดหรือผูกโยงกับดอลลาร์สหรัฐฯ ก็อาจตกอยู่ในข่ายเดียวกันเช่นกัน โดยเฉพาะหากเหรียญเหล่านั้นมีช่องให้ถูกบล็อกหรือควบคุมจากผู้ให้บริการที่อยู่ในประเทศ "ไม่เป็นมิตร"
ในขณะที่แซนด์บ็อกซ์คริปโตของรัสเซียเตรียมเปิดกว้างให้กับนักลงทุนที่มีคุณสมบัติพิเศษ แต่กฎเหล็กฉบับใหม่นี้ก็แสดงให้เห็นว่ารัสเซียกำลังคัดกรองอย่างเข้มข้น เพื่อให้แน่ใจว่าคริปโตที่หมุนเวียนในประเทศจะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติตะวันตก
อย่างไรก็ดี เส้นบาง ๆ ระหว่างเปิดเสรีคริปโตกับตัดขาดเหรียญสายตะวันตก ซึ่งธนาคารกลางรัสเซียกำลังเดินเกมอย่างระมัดระวังระหว่างการส่งเสริมคริปโตเพื่อการค้าระหว่างประเทศ และการปิดกั้นเหรียญที่อาจเปิดช่องให้ “ศัตรู” แทรกแซงสภาพคล่องในประเทศ และ USDT ดูเหมือนจะเป็นเหยื่อรายใหญ่รายแรกที่กำลังถูกเบียดให้ออกนอกระบบคริปโตของแดนหมีขาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้