นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.95-33.65 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.40 บาท/ดอลลาร์ จากเปิดเช้านี้(19พ.ค.68)ที่ระดับ 33.19 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ณ ระดับ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.15-33.46 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งมีผลกดดันให้บรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 146 เยนต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจนในช่วงเช้าของวันจันทร์ หลัง Moody’s ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ จากระดับ Aaa สู่ระดับ Aa1 ท่ามกลางความกังวลต่อเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเข้าถือทองคำและเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) โดยเฉพาะในช่วงที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงของการร่าง Fiscal Bill กดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงกลับมาใกล้เคียงระดับ ณ ช่วง 17.00 น. ของ วันศุกร์ที่ผ่านมา (Round Trip สำหรับดัชนีเงินดอลลาร์)
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้า ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด
สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากสหรัฐฯ ยุโรป และจีน พร้อมทั้งรอติดตาม ประเด็นการเมืองสหรัฐฯ (ที่อยู่ในช่วงการร่าง Fiscal Bill) รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังมีกำลังอยู่ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงเผชิญความเสี่ยง Two-Way Volatility ขึ้นกับแนวโน้มราคาทองคำซึ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทสูงถึง 82% (จาก 1-month correlation) เพราะ แม้ราคาทองคำอาจอยู่ในช่วงการพักฐานและเสี่ยงย่อตัวลงบ้าง แต่ก็อาจมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะเงินหยวนจีน ที่อาจผันผวนได้พอสมควรในสัปดาห์ที่ตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน อนึ่งเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่อาจสูงราว 9.5 พันล้านบาท ตลอดทั้งสัปดาห์ ขณะเดียวกัน บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้บ้าง ในเชิงเทคนิคัลนั้น แนวรับของเงินบาท (USDTHB) อาจขยับขึ้นมาแถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวต้านสำคัญจะอยู่ในช่วง 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 33.75-33.85 บาทต่อดอลลาร์)
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจชะลอการแข็งค่าขึ้น และอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง ในปีนี้ โดยทิศทางเงินดอลลาร์จะขึ้นกับว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ จะออกมาอย่างไร เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ