"ท่าอากาศยานไทย" แนวโน้มไตรมาส3ปีงบ 2568 (เม..ย.-มิ.ย.) ส่ออ่อนตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน จากปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน และรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์ยังมีปัญหา กดดันทั้งปีอ่อนตัว กูรูคาดยังแป็นผลกระทบระยะสั้น แต่แผนพัฒนาสนามบินช่วยแสริมการเติบโตระยะยาว
เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. รายงาน ผลประกอบการงวด 6 เดือน ในปีงบประมาณ 2568 (ต.ค.2567 - มี.ค.2568) มีรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 18,188.15 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 17.82% หรือ 2,751.25 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวม 36,235.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.98% และมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 10,397.57 ล้านบาท
โดยปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ใน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 มีจำนวนเที่ยวบิน 414,377 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.90% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 237,511 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 176,866 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารมาใช้บริการรวม 68.42 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.76% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 42.34 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 26.08 ล้านคน
ขณะที่ ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/68 (ม.ค. - มี.ค.2568 ) มีรายได้รวม 18,388.86 ล้านบาท ลดลง 314.82 ล้านบาท หรือ 13.43% เมื่อเทียบไตรมาส 2/67 ที่มีรายได้รวม 18,402.29 ล้านบาท โดยมีรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 9,383.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,023.49 ล้านบาท จากไตรมาส2/67 ที่มี 8,360.24 ล้านบาท แต่ที่น่าสนใจคือ มีรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 8,522.15 ล้านบาท ลดลง 1,351.74 ล้านบาท เมื่อเทียบไตรมาส 2 ปี 2567 ที่มี 9,873.89 บาท
ทำให้ไตรมาส2/68 บริษัทมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 5,226.39 ล้านบาท (กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ 5,053.27 ล้านบาท และส่วนที่เป็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อย 173.12 ล้านบาท ) ลดลง 745.84 ล้านบาท หรือ 12.24% จากไตรมาส2/67 ที่มีกำไรสุทธิ 5,972.23 ล้านบาท
ทั้งนี้ AOT ยืนยันเดินหน้าการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และการบริการ โดย ทอท. ได้ดำเนินโครงการกระตุ้นตลาด ด้านการบิน (Incentive Scheme) และโครงการสนับสนุนการตลาด (Marketing Fund) เพื่อนำมาซึ่งจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่มาใช้บริการมากขึ้น
ขณะเดียวกัน AOT ได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท่าอากาศยานหลักของประเทศทั้ง 6 แห่ง เพื่อรองรับจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนเป็น 50 ล้านคนต่อปีภายในปี 2576
นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และ ท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมศึกษาแนวทางการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเติบโตของการดำเนินธุรกิจและความมั่นคงของอุตสาหกรรมการบินโดยรวม
และรวมถึง ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในระดับสากลมาใช้ทุกขั้นตอนของการให้บริการในสนามบิน รวมถึงยังเดินหน้าพัฒนาโครงการเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง
ราคาหุ้นยังอยู่ช่วงขาลง
สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น AOT ตั้งแต่ต้นปี 2568 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากช่วงต้นปีที่เคลื่อนไหวบริเวณ 60 บาท โดยมีราคาสูงสุด ประมาณ 67.50 บาท (ในช่วงต้นปี) และราคาต่ำสุดประมาณ 34.00 บาท (ในช่วงเดือนเมษายน) ขณะที่วันที่ 15 เม.ย.2568 ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 35.00 บาท
โดยสัดส่วนรายได้ของ AOT ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 (30 กันยายน 2567) สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ 1.รายได้จากกิจการการบิน (Aeronautical Revenues) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50-55% ของรายได้รวม จากค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Fees) เก็บจากสายการบินที่ใช้พื้นที่สนามบินในการขึ้นลงจอด ,ค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charges - PSC) เก็บจากผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศและภายในประเทศ และค่าบริการเครื่องอำนวยความสะดวก (Aircraft Service Charges) เช่น ระบบจัดการสัมภาระ
2.รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non-Aeronautical Revenues) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 45-50% ของรายได้รวมผ่านรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ (Concession Revenues) จากผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ต่างๆ ภายในสนามบิน เช่น ร้านค้าปลอดภาษี (Duty-Free), ร้านอาหาร, ร้านค้าปลีก (ส่วนนี้มีสัดส่วนค่อนข้างสูงในรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบิน) ,ค่าเช่าพื้นที่ (Rental Income) จากการเช่าพื้นที่สำนักงานและพื้นที่อื่นๆ ภายในสนามบิน และรายได้จากค่าบริการ (Service Income) เช่น ค่าโฆษณา, ค่าบริการภาคพื้นดิน
ทำให้มีการประเมินแนวโน้มรายได้ของ AOT ในอนาคตว่า บริษัทจะมีแนวโน้มว่าสัดส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินจะมีความสำคัญและมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจาก AOT มีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์และพัฒนาบริการต่างๆ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม
พื้นที่เชิงพาณิชย์มีปัญหา
อย่างไรก็ตาม AOT ยังมีปัญหาที่กดดันรายได้ในปัจจุบัน (พฤษภาคม 2568) มีหลายประการ เช่นการปัญหาการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะ King Power ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non-Aeronautical Revenue) ค่อนข้างสูง ได้ขอเลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee - MG) เป็นระยะเวลานานถึง 18 เดือน เนื่องจากประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง
และการเลื่อนชำระดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ของ AOT ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้ที่สำคัญและมีต้นทุนต่ำ ทำให้บริษัท อาจต้องมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ม่เพียงเท่านี้ตลาดยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของ King Power และผลกระทบต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นกับ AOT หากปัญหาสภาพคล่องยังไม่คลี่คลาย
จำนวนนักท่องเที่ยวส่อหดตัว
ประเด็นถัดมา คือ AOT ยังมีความผันผวนของจำนวนนักท่องเที่ยว แม้ว่าภาพรวมการท่องเที่ยวจะยังคงมีแนวโน้มเติบโต แต่ก็อาจมีความผันผวนในจำนวนนักท่องเที่ยวจากบางภูมิภาค ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) และรายได้จากผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นๆ
นอกจากนี้ AOT อาจเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ค่าพลังงาน ค่าบำรุงรักษา และค่าใช้จ่ายในการขยายสนามบินเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินต่างๆ ในอนาคต อาจส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในระยะสั้น แม้ว่าจะเป็นการสร้างการเติบโตในระยะยาว
ขณะที่ปัจจัยบวกที่สนับสนุนผลดำเนินงานของ AOT คือการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยบางส่วนมีการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตของบริษัท เนื่องจากรายได้หลักมาจากการให้บริการสนามบินแก่ผู้โดยสารและสายการบิน
ล่าสุดข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2568 พบว่าการจองเที่ยวบินล่วงหน้าของสายการบินเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (เมษายน - ตุลาคม 2568) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อปริมาณผู้โดยสารในอนาคต ขณะเดียวกัน AOT มีโอกาสที่จะปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้
และปัจจัยสำคัญ คือ แผนการขยายสนามบินต่างๆ ของ AOT ยังคงเป็นไปตามแผน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคืบหน้าของแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิฉบับปรับปรุงใหม่ที่จะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2568
รวมถึงการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน (PPP) โดย AOT มีแผนที่จะเชิญชวนนักลงทุนภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการ PPP ในสนามบินต่างๆ ทั้ง 6 แห่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและสร้างรายได้เพิ่มเติมในระยะยาว แต่ยังไม่รวมถึงการพัฒนาธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Aero Business) เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังมีความผันผวน
"นักวิเคราะห์บางส่วนแสดงความกังวลว่า หาก King Power ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีรายใหญ่ของ AOT ประสบปัญหาสภาพคล่อง AOT อาจต้องตั้งสำรอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไร อีกทั้งการลดลงรายได้จากค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์อาจได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ระมัดระวังมากขึ้น และสิ่งที่เห็นได้ชัดในตอนนี้คือจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ นักวิเคราะห์บางสำนักได้ปรับลดประมาณการกำไรของ AOT สำหรับปี 2568 ลง"
ไตรมาส 3 ส่ออ่อนตัว
โดยทิศทางไตรมาส 3 ตามปีงบประมาณของ AOT (เมษายน - มิถุนายน 2568) มีแนวโน้มที่อาจจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีงบประมาณเดียวกัน (มกราคม - มีนาคม 2568) เนื่องจากเข้าสู่ช่วง Low Season เพราะโดยทั่วไปแล้ว ไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ (เมษายน - มิถุนายน) มักจะเป็นช่วง Low Season ของารท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินลดลงเมื่อเทียบกับช่วง High Season ในไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2568 (มกราคม - มีนาคม 2568) พบว่ากำไรสุทธิลดลง 12.64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการลดลงของส่วนแบ่งรายได้จากร้านค้าปลอดภาษี แม้ว่าจำนวนเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้นก็ตาม ทำให้ชื่อว่าแนวโน้มในไตรมาส 3 อาจยังคงอ่อนตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 จึงจำเป็นต้องติดตามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติมในช่วงดังกล่าว ซึ่งอาจช่วยชดเชยผลกระทบจาก Low Season ได้บ้าง
King Power ยังกดดัน
ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กรุงศรี ประเมินแนวโน้มธุรกิจของ AOT ว่า บริษัทรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2568 (มกราคม - มีนาคม 2568) ที่ 5,053 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณการของบล.กรุงศรีและตลาดถึง 16-17% สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ 3% และค่าใช้จ่ายในการบริหารและขาย (SG&A) ที่สูงกว่าคาดการณ์ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า กำไรสุทธิลดลง 13% เนื่องจากการลดลงของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์สัมปทานเป็นหลัก (จากการเรียกคืนพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี และการยกเลิกร้านค้าปลอดภาษีขาเข้า) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า กำไรสุทธิลดลง 5% จากค่าใช้จ่าย SG&A ที่เพิ่มขึ้น 2% และอัตราภาษีจ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็น 23% (จาก 20% ในไตรมาสก่อนหน้า) ในขณะที่รายได้ในกลุ่มธุรกิจการบิน (Aero) ยังคงเติบโตได้ดี (+12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และ +7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) ตามปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อรวมกำไรสุทธิสำหรับครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568) อยู่ที่ 10,398 ล้านบาท ซึ่งทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แม้ว่ารายได้จะเติบโต 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ถูกฉุดรั้งจากค่าใช้จ่าย SG&A ที่เพิ่มขึ้น 8% เนื่องจากการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นของบริษัทย่อย
เดิม บล.กรุงศรี อยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการผลประกอบการของ AOT จากผลกระทบของ (1) ปริมาณผู้โดยสารที่มีแนวโน้มต่ำกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2568 ที่ลดลง (จาก 38 ล้านคน เหลือ 35-36 ล้านคน) และ (2) ความเสี่ยงของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์สัมปทานจาก King Power ที่ลดลง เนื่องจาก King Power ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต่ำกว่าคาดการณ์ และพฤติกรรมการซื้อสินค้าปลอดภาษีที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต (ส่งผลให้ราคาเป้าหมายของ AOT อยู่ในกรอบ 30-50.25 บาท)
และจากผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2568 ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ ทำให้ผลประกอบการของ AOT มีแนวโน้มลดลงอีก ทำให้บล.กรุงศรีมีแนวโน้มที่จะปรับลดประมาณการกำไรสำหรับปีงบประมาณ 2568 สะท้อนถึงปริมาณผู้โดยสารที่มีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาเป้าหมายมีแนวโน้มลดลง 22% เหลือ 50.25 บาท
นอกจากนี้ หุ้น AOT ยังคงมีปัจจัยกดดัน (Overhang) จากประเด็นของ King Power (KP) โดยทุกๆ 10% ของรายได้จาก KP ที่ลดลง จะส่งผลกระทบต่อราคาเป้าหมาย 7% ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด (Worst case) หากรายได้จาก KP ลดลง 56% ราคาเป้าหมายจะอยู่ที่ 30 บาท และ ผลกระทบจากกำไรไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2568 ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ 17%
คาดเป็นปัจจัยลบระยะสั้น
ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินว่า กำไรในไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2568 ลดลงทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) แม้ว่าไตรมาสนี้จะเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง แต่กำไรในไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2568 ของ AOT กลับไม่น่าประทับใจ โดยมีกำไรสุทธิ 5.05 พันล้านบาท (-12.6% YoY, -5.4% QoQ) ซึ่งต่ำกว่าประมาณการของบล. และตลาดถึง 14.9% โดยกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2568 คิดเป็น 24.3% ของประมาณการกำไรทั้งปีที่ 2.34 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2568 คิดเป็น 49.9% ของประมาณการทั้งปี
ส่วนในด้านรายได้ ไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2568 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1.79 หมื่นล้านบาท (-1.8% YoY แต่ +1.4%QoQ) ขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT margin) อยู่ที่ 38.8% ลดลงจาก 44.0% ในไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2567 และ 41.4% ในไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2568
สำหรับรายได้ที่เกี่ยวกับการบิน (Aero-business) คิดเป็น 52.4% ของรายได้รวม และธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน (Non-Aero business) คิดเป็น 47.6% โดยรวมแล้ว กำไรในไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2568 ของ AOT ยังคงสะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวน่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน ซึ่งโดยปกติแล้วมีอัตรากำไรที่สูง นอกจากนี้คาดการณ์ว่ากำไรจะเติบโตในอัตราที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อันเป็นผลมาจากการปรับปรุงพื้นที่เชิงพาณิชย์บางส่วน และค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าคาดการณ์เล็กน้อย
ดังนั้นในระยะสั้น ยังคงคาดการณ์ว่า AOT จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการปรับปรุงพื้นที่เชิงพาณิชย์บางส่วนของผู้รับสัมปทานหลายราย และพื้นที่สำนักงานบางส่วน ซึ่งจะจำกัดศักยภาพการเติบโตของรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ของบริษัท ซึ่งโดยปกติแล้วมีอัตรากำไรที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาสนามบินน่าจะนำไปสู่มาตรฐานที่สูงขึ้น เพื่อรองรับการเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุด (สนามบินสุวรรณภูมิ) สนามบินที่มีผู้โดยสารหนาแน่น (สนามบินภูเก็ต) และสนามบินอื่นๆ ภายใต้การบริหารจัดการของ AOT ทำให้ยังเชื่อว่าค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) จะมีการปรับขึ้นในอนาคต
ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงผลประกอบการครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2568 จึงมองว่าประมาณการกำไรสำหรับปีงบประมาณ 2568 ในปัจจุบันมีความเสี่ยงด้านขาลง (downside risk) จากกลุ่มรายได้ธุรกิจที่ไม่ใช่การบินที่อาจต่ำกว่าคาดการณ์ แต่ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" โดยประเมินราคาเป้าหมายด้วยวิธี DCF สำหรับปีงบประมาณ 2568 ที่ 50.00 บาท