xs
xsm
sm
md
lg

คลังสั่งแบงก์รัฐอุ้มเอสเอ็มอีส่งออก-ซัพพลายเชน-ออมสินรับลูกเล็งลดดอกเบี้ย-ปล่อยกู้ซอฟต์โลน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายกระทรวงการคลังให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือภาคธุรกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาเป็นการเร่งด่วนนั้น กระทรวงการคลังจึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ

โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบาย

สำหรับโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ที่กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อ Soft Loan โครงการอื่น เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา 2) ธุรกิจ Supply Chain และ 3) ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวม และสถาบันการเงินของรัฐอื่นเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อผู้ส่งออกและธุรกิจ SMEs/Supply Chain อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณา

"ในการประชุมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในครั้งนี้ ก็ได้ให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งไปรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินการให้ความช่วยเหลือ และดำเนินการออกมาตรการต่างๆ อย่างที่ผ่านมา ออมสินก็มีวงเงินซอฟต์โลนให้ธนาคารพาณิชน์กู้ไปปล่อยต่อในอัตราดอกเบี้ยแค่ 0.1% โดยในครั้งนี้จะมุ่งเน้นใน 3 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ส่งออกไปสหรัฐฯ สองกลุ่มซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่อง และกลุ่มพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่อาจจะถูกกระทบด้านรายได้ซึ่งตรงนี้จะเป็นเฟสต่อไป พร้อมกันนั้น ยังต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ในการรวบรวมข้อมูล และดำเนินมาตรการในลักษณะเดียวกัน ซึ่งในครั้งนี้เราต้องมองให้ครอบคลุมเพราะผลกระทบรอบนี้อาจจะกระทบเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปถึง 2-3 ปีข้างหน้า แต่ขณะนี้ยังไม่สัญญาณเศรษฐกิจถดถอย"

นอกจาก ภายใต้สภาวะความผันผวนที่ภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวได้ว่ากลไกสถาบันการเงินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ผ่านการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติ เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งยั่งยืนในระยะยาว

**ออมสิเล็งลดดอกเบี้ย-ปล่อยกู้ซอฟต์โลน**
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินและประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐกล่าวภายหลังการประชุมมอบนโยบายสถาบันการเงินของรัฐหนุนธุรกิจรับมือมาตรการภาษีทางการค้า-กระตุ้นเศรษฐกิจกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า ธนาคารออมสินได้รับมอบหมายให้รวบรวมข้อมูลลูกค้าเอสเอ็มอีที่ผลกระทบจากมาตรการภาษีทางการค้าซึ่งขณะนี้ได้รวบรวมแล้ว โดยในเบื้องต้นออมสินมีวงเงินกู้ซอฟต์โลนจำนวน 1 แสนล้านบาทที่เริ่มโครงการในเดือนกรกฎาคมปี 67 และหมดระยะยื่นขอสิ้นปี 68 หมดเขตเบิกวงเงินสิ้นปี 2569 โดยมียอดเบิกใช้ไปแล้ว 75,000 ล้านบาท ซึ่งก็ยังมีส่วนที่เหลืออยู่ และหากไม่เพียงพอก็จะเพิ่มเติมวงเงินกู้ซอฟต์โลนอีก 1 แสนล้านบาท แต่จะเฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มผู้ส่งออกและซัพพลายเชนมากขึ้นในเงื่อนไข-อัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงเดิม
 
"ธนาคารออมสินพร้อมที่จะสนองนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน โดยในเบื้องต้นธนาคารมีความพร้อมลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ 2-3%ซึ่งจะทำได้ใน 2-3 วันนี้ นอกจากนี้ ธนาคารพร้อมที่จะสนับสนุนวงเงินกู้วงเงินซอฟต์โลนต่อเนื่องในวงเงินเดิมคือ 1 แสนล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีผู้ส่งออกและซัพพลายเชนในอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 3.5% ซึ่งส่วนนี้จะต้องมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก่อน เนื่องจากโครงการดังกล่าวธนาคารออมสินเสียรายได้ประมาณ 3 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งธนาคารไม่ได้ยื่นขอชดเชย เนื่องจากสอดคล้องกับกับแนวทางการลดรายได้-กำไรเพื่อคืนสู่สังคมให้มากขึ้นของธนาคาร"
กำลังโหลดความคิดเห็น