xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพาณิชย์ปลุกเอสเอ็มอีหันใช้ AI รับมือโจทย์ยาก-ศก.ผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยพาณิชย์จัดเสวนา 'upply Chain Futureprenuer ปลดล็อกพลังเอไอ ขับเคลื่อนอนาคตธุรกิจยั่งยืน' ปลุกเอสเอ็มอีให้ความสำคัญ AI ตัวช่วยรับมือโจทย์ยากเศรษฐกิจผันผวน-การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเร็วและแรง

นางสาวกนกวรรณ ใจศรี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Business Banking I ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า AI และคาร์บอนเครดิต เป็นสองเทรนด์โลก ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญในการสนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอีให้เร่งนำ AI มาใช้ และลดการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะในกลุ่มซัพพลายเชน เนื่องจากปัจจุบัน ธุรกิจขนาดใหญ่ได้เริ่มนำ AI มาปรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมกับการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ดังนั้น เอสเอ็มอี จึงต้องเร่งตัวตามเทรนด์ดังกล่าว เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดอย่างยั่งยืนและมั่นคงในอนาคต โดยธนาคารมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอีสู่ความยั่งยืน ผ่านการให้คำปรึกษา เชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรให้ความรู้ผ่านการเสวนา และสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ

นายปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) กล่าวว่า ในภาคธุรกิจ AI จะสามารถช่วยยกระดับการผลิตและเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ได้อย่างมาก ซึ่งปัจจุบันเอสเอ็มอีไทยเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำ AI มาใช้ แต่ยังขาดความพร้อมด้านแรงงาน โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก ทั้งนี้จากผลสำรวจของ SCB EIC ในปี 2567 ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยที่นำ AI มาใช้งานแล้ว มีเพียง 40.4% อย่างไรก็ตาม นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ผลการศึกษาชี้ว่า เอสเอ็มอีไทย มีแผนที่จะลงทุนใน AI โดยมุ่งไปที่เพิ่มทักษะและความรู้ให้กับพนักงาน รองลงมาคือการซื้อ Generative AI มาใช้ภายในบริษัท ในขณะที่เอสเอ็มอียังคงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ด้านกฎหมาย ด้านทักษะแรงงาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี

นายชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า AI ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับ SME ในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการเร่งพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรองรับการปรับใช้เทคโนโลยีโดยแนวโน้ม AI ที่กำลังมาแรง ได้แก่ AI Agent และ Generative AI ซึ่งทำหน้าที่เสมือนพนักงานที่สามารถช่วยองค์กรทำงานได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น การเขียนโค้ด พัฒนาโปรแกรม และวิเคราะห์ข้อมูลการขาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผู้ประกอบการจะนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ควรพิจารณาว่าฟังก์ชันงานใดที่ AI สามารถทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านความปลอดภัยของข้อมูลและการจัดการข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล เนื่องจาก AI “กินข้อมูลเป็นอาหาร” หรืออาศัยข้อมูลในการประมวลผล ฉะนั้นความแม่นยำของ AI จึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลที่ใช้เป็นอาหารของ AI ด้วย

**เร่งเอสเอ็มอีมุ่งสู่ Net Zero**
นางสาวภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทใหญ่ระดับโลก และของไทยเองต่างประกาศเป้าหมาย Net Zero ดังนั้น เอสเอ็มอีซึ่งเป็นซัพพลายเชนของบริษัทใหญ่ถ้าไม่ปรับตัวก็ขายสินค้าไม่ได้ จึงอยากให้เอสเอ็มอีมองว่า เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นโอกาสในการเข้าถึงตลาด ปัจจุบัน อบก.ได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อช่วยการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร ซึ่งเป็นภาคบังคับที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องดำเนินการเก็บข้อมูลในสโคป 1 คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง เช่น การใช้เชื้อเพลิงเพื่อการเผาไหม้ การใช้สารทำความเย็น และสโคป 2 คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม เช่น การซื้อไฟฟ้าจากหน่วยงานรัฐมาใช้ในองค์กร โดยองค์กรจะต้องเก็บข้อมูลย้อนหลังเป็นเวลา 1 ปี โดยเอสเอ็มอี สามารถลงทะเบียนการใช้งาน กรอกข้อมูลองค์กรเพื่อรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในองค์กร ขณะการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการทวนสอบข้อมูล ผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งสะดวกและเข้าถึงได้ง่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น