สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานการดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ ช่วง 4 เดือนแรกปี 2568 และคดีที่น่าสนใจคือ การฟ้องร้อง ผู้กระทำผิดที่ดื้อแพ่ง ไม่ยอมรับบทลงโทษ แม้เป็นการลงโทษในทางแพ่งก็ตาม
คดีความผิดทั้งหมดช่วง 4 เดือนแรกปีนี้มี 15 คดี แยกเป็นความผิดที่กล่าวโทษทางอาญา 7 คดี ผู้กระทำผิดรวม 26 ราย โดยเป็นความผิดการสร้างราคาหุ้น การแพร่ข่าวหรือข้อมูลเท็จ และการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต
ส่วนอีก 8 คดี ดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง มีผู้กระทำผิดรวม 42 ราย เป็นความผิดการสร้างราคาหุ้น การใช้ข้อมูลภายใน การเปิดเผยข้อมูลภายใน และการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริง
คดีที่ดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง ผู้กระทำผิดตกลงทำบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งรวม 4 คดี โดยมีค่าปรับทางแพ่ง จำนวน 14.14 ล้านบาท และชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับจำนวน 10.20 ล้านบาท
นอกจากนั้นยังมีคดีที่ ก.ล.ต. ยื่นฟ้อง เพื่อให้ศาลแพ่งกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง และมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว 6 คดี เป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น 1 คดี และศาลอุทธรณ์ 5 คดี ซึ่งศาลพิพากษาให้ ก.ล.ต. ชนะคดี โดยลงโทษและกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งแก่จำเลยในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
และมีคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ จำนวน 15 คดี แบ่งเป็น 11 คดี อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น และ 4 คดี อยู่ระหว่างอุทธรณ์ หลังศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ก.ล.ต. ชนะคดี โดยลงโทษและกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งแก่จำเลยในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
การใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง โดยกำหนดเงินค่าปรับนั้น ถือเป็นบทลงโทษสถานเบา เมื่อเทียบกับการกล่าวโทษทางอาญา แต่ผู้กระทำความผิดในคดีที่สร้างความเสียหายร้ายแรง หลายรายไม่ยอมรับบทลงโทษ ไม่ยอมชำระค่าปรับ จนก.ล.ต.ต้องส่งเรื่องให้อัยการยื่นฟ้องศาลเพื่อบังคับคดี
ศาลตัดสินให้ ก.ล.ต.ชนะคดีตลอด โดยสั่งชำระค่าปรับตามอัตราโทษสูงสุดของความผิด เช่นคดีปั่นหุ้น บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA ซึ่งมีผู้ร่วมขบวนการปั่นหุ้น 40 ราย
และ ก.ล.ต.เรียกชำระค่าปรับประมาณ 1.7 พันล้านบาท แต่กลุ่มผู้กระทำผิดไม่ยอมชำระ ก.ล.ต.จึงฟ้องศาล เรียกชำระค่าปรับในอัตราสูงสุด 2.3 พันล้านบาท โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้น
ผู้กระทำผิดที่ไม่ยอมรับผิด ไม่จ่ายค่าปรับ เมื่อศาลชั้นต้นตัดสิน โดยสั่งชำระค่าปรับในอัตราสูงบสุดตามที่กฎหมายกำหนด สามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาได้ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ยืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้น ให้ถือคดีถึงที่สุด ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ ซึ่งหมายถึงจะต้องชำระค่าปรับให้ ก.ล.ต. ก่อนที่จะนำส่งเข้ากระทรวงการคลัง
แต่ในความเป็นจริง ก.ล.ต. อาจไม่ได้รับการชำระค่าปรับตามคำสั่งศาล เพราะผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ น่าจะไม่ยอมจ่าย ซึ่งต้องตามสืบทรัพย์ ยึดทรัพย์ และฟ้องล้มละลายในที่สุด
อาชญากรที่ก่อคดี สร้างความเสียหายร้ายแรงในตลาดหุ้น ย่อมไม่มีสำนึกในความผิด ไม่มีความละอาย ไม่คำนึงถึงชื่อเสียง ไม่กลัวคำตำหนิติเตียนของสังคม ไม่ตระหนักในผลกระทบของคนอื่น และไม่กังวลต่อคดีความใด ๆ ในทางแพ่ง
การถูกฟ้องล้มละลาย จึงไม่มีความหมายใดกับบรรดาอาชญากรในตลาดหุ้น เพราะได้โยกย้าย ถ่ายเท ทรัพย์สินที่ปล้นจากนักลงทุนไปหมดแล้ว
ไม่เหลืออะไรให้ ก.ล.ต.ตามยึดทรัพย์
การชนะคดีในทางแพ่งของ ก.ล.ต. จึงได้แต่ภาพลักษณ์ทางนามธรรม แต่ในรูปธรรม อาชญากรที่ปล้นนักลงทุนในตลาดหุ้น ลอยนวลตามเคย ไม่ต้องชดใช้กรรมใด ๆ