นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(14พ.ค.68)ที่ระดับ 33.23 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.15-33.40 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.19-33.38 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่า เงินดอลลาร์จะทยอยอ่อนค่าลงบ้าง หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนล่าสุด ออกมา +2.3% ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI +2.8% ตามคาด) ทว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะทยอยสูงขึ้นได้ จากผลกระทบของมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะทยอยสะท้อนออกมาในรายงานอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ก็เป็นไปอย่างจำกัด ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่หนุนการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 4.50% อีกครั้ง ทั้งนี้ เงินบาทยังเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม ทิศทางราคาทองคำ ซึ่งมีทั้งจังหวะย่อตัวลง ก่อนที่จะได้แรงหนุนจากโฟลว์ซื้อ Buy on Dip จากผู้เล่นในตลาดบางส่วน (ซึ่งอาจรวมถึงฝั่งผู้เล่นที่ต้องการ take profits สถานะ Short ทองคำ) ทำให้ราคาทองคำรีบาวด์สูงขึ้นมากบ้าง และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา (แต่โดยรวม เราคงมองว่า ราคาทองคำจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เงินบาทเผชิญความผันผวน Two-Way Volatility ขึ้นกับทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยมี Beta ราว 0.3-0.5)
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้ ส่วน BOE และ ECB อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกราว -50bps หรือ 2 ครั้ง
และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานยอดสต็อกน้ำมันคงคลังโดย EIA ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบ WTI ในระยะสั้นได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเราประเมินว่า ในช่วงนี้ เงินบาทอาจยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาด อย่างฝั่งผู้ส่งออก ต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ก็อาจจะต้องการทยอยขายทำกำไรในโซนดังกล่าวบ้าง แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้จริง เรามองว่า เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าต่อไปยังโซน 33.75-33.85 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยากนัก หากผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) ทยอยปิดสถานะ Cut Losses
ทั้งนี้ แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ รวมถึงแรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะฝั่งบอนด์ ส่วนแรงขายหุ้นไทยช่วงนี้ ถือว่า เหนือความคาดหมายของเรา ที่ประเมินว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยหนุนให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยซื้อหุ้นไทยได้ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงเผชิญความเสี่ยง Two-Way Volatility จากทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ที่แม้จะอยู่ในช่วงการพักฐาน Correction แต่ก็สามารถมีทั้งจังหวะย่อตัวลง สลับกับการรีบาวด์สูงขึ้น ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อ-ขายทองคำ ส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้เช่นกัน
โดยรวมเรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ชัดเจน อาจทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 33.75-33.85 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ขณะที่โซนแนวรับสำคัญอาจขยับขึ้นมาแถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแนวรับถัดไปในช่วง 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์ ตามเดิม