ซีเค พาวเวอร์ ไตรมาสแรกกำไร EBITDA + Share of Profits 991 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 139% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 63 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 305 ล้านบาท ฟื้นตัวจากปีก่อนที่ขาดทุน 242 ล้านบาท
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยในไตรมาสแรกว่ามีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย รวมส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วม ( EBITDA + Share of Profits) 991 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 139% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (Core Net Profit) 63 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 305 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่รับรู้ขาดทุนจากการดำเนินงาน 242 ล้านบาท
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้นในปีนี้ มาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ของบริษัท โดยรายได้การขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ที่เพิ่มขึ้น 4% จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในช่วงต้นปี 2568 ที่มากกว่าปีก่อน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าสามารถประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้มากขึ้น 7% รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วมลดลงถึง 563 ล้านบาท เหลือเพียง 7 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลง 99% จากปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ที่เพิ่มขึ้นถึง 41%ทำให้ปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 34 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
"โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 สามารถประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าเดือนมกราคม-พฤษภาคมปี 2568 มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 3 และยังมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 อยู่ที่ 363 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณน้ำไหลเข้า โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย โดยต้องรอความชัดเจนของปริมาณน้ำอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม สำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ หลวงพระบาง มีความคืบหน้าการก่อสร้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 48% ซึ่งเป็นไปตามแผน ขณะที่โครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ สำหรับผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ในระยะแรก 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 7.0 MW ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 มีความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 86 % ซึ่งเป็นไปตามแผน โดยเริ่มผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้แล้ว 1 โครงการเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2567 และจะทยอยแล้วเสร็จครบทุกโครงการในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568" นายธนวัฒน์ กล่าว
สำหรับฐานะการเงินของ CKP สิ้่นไตรมาสแรกบริษัทมีอัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ที่ 1.72 เท่า มีหนี้สินรวมลดลง 3% จากสิ้นปี 2567 และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมในระดับต่ำที่ 0.53 เท่า โดยทริสเรทติ้งได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ทุกชุดของบริษัทเป็นอันดับ “A-“ แนวโน้มคงที่ ซึ่งเท่ากับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สะท้อนถึงโครงสร้างหนี้ที่แข็งแกร่งขึ้น จากการบริหารหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ การทยอยลดภาระหนี้ของบริษัทย่อย และการรักษาระดับความสามารถในการชำระหนี้ให้อยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่งพร้อมกันนี้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลดำเนินงานในปี 2567 อัตราหุ้นละ 0.085 บาท และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 พฤษภาคม 2568
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับก้าวต่อไป CKP มีแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่ด้านการเงินสีเขียว (Green Finance) โดยใช้กลไกการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RECs) โดยในปี 2567 โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเครือของกลุ่มบริษัท CKP สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนส่งให้ประเทศไทยได้กว่า 8.8 ล้านเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในประเทศ และในปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนและเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่สามารถหวังผลในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2593"