เวทีขับเคลื่อนศักยภาพองค์กรระดับสากล “ผู้นําการปฏิวัติ 4IR: ถอดบทเรียนสําคัญจาก WEF Global Lighthouse Network” ขณะที่ เทคโนโลยีอุตฯยังช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจ มีความแม่นยำในการวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า การสร้างห้องชุดเสมือนจริง สร้างภาพจำให้ผู้ซื้อที่ต้องการอยู่คอนโดฯ ภาคโลจิสติกส์ และ คลังสินค้า นำมาประมวลประสิทธิภาพในการจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภค ธุรกิจต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ลดความสูญเสียใช้ทรัพยากร
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร จัดสัมมนา i-Forum "ผู้นําการปฏิวัติ 4IR: ถอดบทเรียนสําคัญจาก WEF Global Lighthouse Network" ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่มาแบ่งปันองค์ความรู้ และร่วมเสวนา ถือเป็นเวทีแห่งการขับเคลื่อนศักยภาพองค์กร ระดับสากล ซึ่ง Global Lighthouse Network คือชุมชนของผู้ผลิตระดับโลก ที่นําเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 Fourth Industrial Revolution (4IR) มาปรับใช้ในโรงงานและกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม
รองศาสตราจารย์ ดร.เชาวลิต มิตรสันติสุข ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าคณะทำงาน กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของภาคการผลิตทั่วโลกกำลังเกิดขึ้นภายใต้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Fourth Industrial Revolution (4IR) ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ไม่ว่าจะเป็น AI, IoT, Big Data, หุ่นยนต์อัตโนมัติ และระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ซึ่งมีศักยภาพในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือ การสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้กับภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว
ดังนั้น งานเสวนาวิชาการ i-Forum มีจุดประสงค์เพื่อเชิญโรงงานชั้นนำของประเทศ มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยเฉพาะเครือข่ายที่มีบทบาทโดดเด่นระดับโลกอย่าง Global Lighthouse Network ซึ่งริเริ่มโดย World Economic Forum (WEF) ร่วมกับ McKinsey & Company เป็นเวทีรวมองค์กรและโรงงานที่ได้รับเลือกให้เป็น “Lighthouse” หรือ “ประภาคาร” ที่ส่องแสงนำทางให้อุตฯทั่วโลก ด้วยการเป็นต้นแบบของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อุตฯยุคที่ 4 (4IR) อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
พร้อมระบุว่า WEF Global Lighthouse Network ประกอบด้วย 3 ประเภทด้วยกันได้แก่ 1) 4IR Lighthouses โรงงานที่ใช้เทคโนโลยี 4IR ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในระดับโลกมีทั้งหมด 189 โรงงานที่ได้รับ ในประเทศไทย มีเพียง 2 โรงงานในประเทศไทย
2) Sustainability Lighthouse โรงงานที่ไม่เพียงแต่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม มีทั้งหมด 25 โรงงาน ในประเทศไทย มีเพียง 1 โรงงาน
และ 3) Frontline Workforce of the Future กำลังคนด่านหน้าในอนาคต โครงการนำร่องของ WEF Global Lighthouse Network โดยมีคำขวัญโครงการคือ Empowering people, transforming industries เสริมศักยภาพบุคลากร ปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่อนาคต ปี 2025 มีการร่วมมือมากกว่า 10 บริษัทชั้นนำทั่วโลก และได้ยกย่อง 3 โรงงาน ที่มีนวัตกรรมด้านการพัฒนาทักษะ “กำลังคนด่านหน้า” โดดเด่นเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดพิธี MOU ในโครงการ Advanced Technology Upskill Development Program for Smart Manufacturing 4.0 ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กับบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) (WD) สำหรับความร่วมมือดังกล่าว มีเนื้อหาที่ครอบคลุม 2 กลุ่มเทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ ระบบอัตโนมัติ (Automation) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการประยุกต์ใช้งานจริงเชิงพาณิชย์
รศ.ดร.เชาวลิต ระบุว่าที่สำคัญ แนวคิด “Share Skill” ในโครงการนี้ หมายถึงการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่การสอน แต่เป็นการร่วมเรียนรู้ที่ตอบโจทย์หน้างานจริง และยกระดับสมรรถนะบุคลากรอย่างตรงจุด โครงการนี้จึงไม่ใช่แค่การฝึกอบรม แต่เป็น ต้นแบบของความร่วมมือที่สามารถขยายผลในระดับประเทศ สร้างรากฐานสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ และช่วยพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ บริษัท Delta Electronics (Thailand) ที่จะมาแบ่งปันวิสัยทัศน์ด้านระบบอัตโนมัติ AI และโซลูชันพลังงานอัจฉริยะ และ บริษัท Bitkub Capital Group Holdings ที่จะสะท้อนภาพอนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยผ่านเทคโนโลยีอย่าง Blockchain และ AI และ ข้อมูลเชิงลึก จากสุดยอดงานประชุมผู้นำระดับโลก World Economic Forum ในหัวข้อ Collaboration for the Intelligent Age
ทั้งนี้ แนวทางและบทเรียนจากงานสัมมนาครั้งนี้ ยังเชื่อมโยงโดยตรงกับ นโยบายส่งเสริมการลงทุนพิเศษของ BOI ซึ่งสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมขั้นสูง อันเป็นรากฐานสำคัญของการผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในระดับโลก
โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคอุตสาหกรรม 4.0 ไปสู่ อุตสาหกรรม 5.0 ซึ่งมี “มนุษย์เป็นศูนย์กลาง” ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยแห่งใหม่ KUARC Kasetsart University AI and Robotics Center ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ เพื่อสนับสนุนการนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 5.0 โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรด้วยการ Upskill และ Reskill ผ่านโครงการความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร โรงพยาบาลด้านการแพทย์ และ สนับสนุนการวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเทคโนโลยี 4IR คือ การปฎิวัติอุตสาหกรรม แน่นอนครั้งแรกจะมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เราต้องถอดบทเรียนจากโรงงานระดับโลก มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้ ได้ตั้งแต่กระบวนการผลิต หรือ การวิเคราะห์ ทำดาต้า ว่า ความต้องการของลูกค้าในพร็อพเพอร์ตี้ มีอะไรบ้าง และใช้ดาต้ามาใช้ในการวิเคราะห์เทรนด์ ทำให้บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ สามารถวิเคราะห์ได้ตรงใจลูกค้า ซึ่งแน่นอนในระยะแรกของการทำเรื่องเทคโนโลยี ค่าใช้จ่าย ซึ่งเราจะเห็นความก้าวล้ำในเรื่องการจัดการโครงการขายคอนโดมิเนียม เช่น ใส่แว่นสามมิติ ที่เห็นรูปแบบภายในโครงการ ห้องนอน และสิ่งต่างๆภายในห้องชุด ตรงคอนเซ็ปต์ของลูกค้าและเกิดการตัดสินใจในการซื้อคอนโดฯ เป็นต้น
"การที่เรามีดาต้าเยอะๆ หลากหลาย ข้อมูลแม่นยำมากขึ้น แม่นยำกว่า ก็จะส่งผลให้กำไรที่เพิ่มมากขึ้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ประยุกต์เข้ากับองค์กรในธุรกิจอสังหาฯ จุดสำคัญ เมื่อเราได้แนวทางแล้ว การจะพัฒนาแอปพลิเคชั่น ก็ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เข้ามา เนื่องจากดาต้ามีความแตกต่างกัน เป้าหมายสุดท้าย คือ การส่งเสริมให้ผู้ใช้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีได้ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องด้วย"
หรือแม้แต่ในธุรกิจโลจิสติกส์ คลังสินค้า (Warehouse) ถ้ามี IOTมาช่วย จะทำให้เราตรวจสอบปริมาณสินค้าภายในคลังสินค้า มีสต๊อกคงเหลือเพียงพอต่อการจัดส่งให้กับลูกค้าได้นานแค่ไหน รวมถึงยังเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าต้องการซื้อสินค้าประเภทอะไร คาดการณ์ได้แม่นยำ ทำให้ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร และยังคิดค้นโปรดักส์ได้ตรงใจลูกค้าเช่นกัน
ดร.ไสว เชื้อสาวะถี Vice President & Managing Director, HDD Operations, Prachinburi บริษัท Western Digital Storage Technologies (Thailand) กล่าวว่า บริษัทฯมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนอุตฯการผลิตยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะเป็นต้นแบบให้กับองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยแนวทางการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติของการดำเนินงาน
ณชา เกื้อกูลเกียรติ Director, Manufacturing Business Unit of Kenvue Thailand บริษัท Kenvue Thailand กล่าวว่า โรงงานเคนวิวในกรุงเทพฯ ได้รับการยอมรับจาก World Economic Forum ให้เป็น Global Sustainability Lighthouse สะท้อนถึงความมุ่งมั่นใช้เทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานโรงงานในกรุงเทพฯ ถือเป็นฐานการผลิตหลักของเคนวิว โดยผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจ
ทั้งนี้ งานสัมนาวิชาการ i-Forum ดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับ นโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนพิเศษของ BOI ที่มุ่งสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล นโยบายเหล่านี้ยังช่วยเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก พร้อมทั้งผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้เติบโต อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาว.