“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ “มองเศรษฐกิจไทยในช่วงมาตราการภาษีสหรัฐฯ เป็น “ตัว V ขากว้าง”มีผลกระทบระยะยาว แต่ไม่ต่ำสุดกว่าที่เคยต่ำเท่ากับช่วงต้มยำกุ้งและ วิกฤตการเงินโลกในปี 2008 เตรียมมาตรการดูแลผลกระทบเฉพาะกลุ่ม ตรงจุด มากกว่าที่จะใช้มาตราการ “ปูพรม” เพราะผลกระทบแตกต่างกัน พร้อมทบทวนดอกเบี้ยนโยบาย หาก outlook เปลี่ยน
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการภาษีทางการค้าของสหรัฐต่อไทยทำให้เศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนสูงมาก เมื่อมองไปข้างหน้าพายุกำลังจะมาถึง ขณะนี้ผลกระทบในด้านการชะลอการลงทุนเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งช่วงครึ่งหลังของปี 2568 หรือในช่วงไตรมาส 4 ขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐจะเห็นค่อนข้างหนักในไตรมาส 4 และพายุครั้งนี้ใช้เวลานานไม่จบเร็ว ธปท.ประเมินว่าผลกระทบจากนโยบายภาษีการค้าของสหรัฐ มี 5 กลุ่ม คือ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร ยานยนต์และชิ้นส่วน เกษตรและเกษตรแปรรูป ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทานธุรกิจ โดยผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยจะไม่หนักมากแต่มีผลระยะยาวเพราะเศรษฐกิจไทยมีการส่งออกไปสหรัฐสัดส่วน 2.2% ต่อจีดีพี แม้ผลกระทบไม่น้อยแต่มองว่าจะมีผลกระทบไม่หนักเท่ากับปี พ.ศ. 2540 หรือวิกฤตการเงินโลกในปีค.ศ .2008
สำหรับรูปร่างหน้าตาของผลกระทบจากมาตรภาษีทรัมป์ต่อเศรษฐกิจไทยในรอบนี้ มีลักษณะเป็น ‘ตัว V ที่มีขากว้าง’ แบ่งเป็น 4 ระยะ โดยแรกคือระยะเริ่มต้นของผลกระทบที่เหมือนอยู่บนปากหลุม แต่หลุมเศรษฐกิจจะชันและลึกแค่ไหนขึ้นอยู่กับการเจรจาการค้า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ช่วงระยะแรกของ V Shape ระยะ2 ช่วงที่กำลังตกลงไปใกล้จุดต่ำสุด แต่จะมากแค่ไหนยังไม่ชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับการเจรจาที่ไม่ใช่แค่การเจรจาของไทยกับสหรัฐ และประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีน โดยจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจระลอกนี้จะเกิดหลังจากไตรมาส 4 ของปี 2568 ซึ่งต้องจับตามองว่าจะเปิดขึ้นเมื่อใดและจะลงลึกเท่าใด
ระยะ 3 คือช่วงที่ฟื้นจากจุดต่ำสุด หลังจากพายุผ่านไปทระยะนี้เป็นช่วงที่ใช้เวลานานกว่าช่วงแรก เพราะเป็นการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานต่างที่อาจจะต้องใช้เวลานานเป็นปี ระยะ 4 คือ การเติบโต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีกว่าเดิม เพราะหากไม่ทำอะไรยังอยู่เหมือนเดิมเศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสสูงที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีต หรือต่ำกว่าศักยภาพในปัจจุบัน
“ถ้าเกิดเป็นฉากทัศน์ที่ว่า เกิดสงครามการค้าอย่างเต็มที่ คุยกันไม่ได้เลย โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐกับจีน การค้าระหว่าง 2 ประเทศ ไปไม่ได้เลย ตัว V ขาลง ก็จะชันกว่านี้ จุดต่ำสุด ก็จะลึกกว่านี้ด้วย ดังนั้น ในช่วงนี้ ต้องจับตามองการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและจีน เป็นสำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อโลก และต่อไทย รวมถึงต้องติดตามว่าการเจรจาของไทยกับสหรัฐว่า จะได้เงื่อนไขอย่างไร” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ในการเจรจาระหว่างสหรัฐกับประเทศต่างๆ คงไม่ใช่การเจรจารอบเดียวแล้วจบ และในท้านยที่สุดภาษี tariff ที่สหรัฐเก็บจากประเทศต่างๆ คงลดลง แต่จะอยู่ในอัตราไม่น้อยกว่า 10% เห็นได้จากการเจรจาระหว่างสหรัฐ และสหราชอาณาจักร (UK) สหรัฐยังเก็บภาษี UK ในอัตรา 10% ทั้งๆที่สหรัฐไม่ได้ขาดดุลการค้ากับ UK เลย ดังนั้น ภาษีนำเข้าในอัตรา 10% น่าจะยังอยู่ต่อไป และอัตราดังกล่าวถือว่าไม่น้อย เพราะเดิมภาษีตรงนี้อยู่ที่เฉลี่ย 2%
อย่างไรก็ตามความที่วิกฤตครั้งนี้ ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเติบโตสูงกว่าในช่วงก่อนเกิดสงครามการค้าได้ ซึ่งจะต้องมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.แม้ว่าสหรัฐเป็นตลาดที่ใหญ่ในโลก โดยมีสัดส่วนการนำเข้าต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็น 15% ของโลก แต่หากอีก 85% ที่เหลือ หันหน้าเข้าหากัน ลดกำแพงภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีระหว่างกัน มีการค้าขายกันมากขึ้น ก็เป็นไปได้ว่า การค้าของโลกและไทยจะดีกว่าแต่ก่อน ซึ่งจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยดีขึ้น 2.เศรษฐกิจไทยมีจุดแข็งในภาคบริการ หากไทยสามารถสามารถยกระดับภาคบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น ไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบเดิมๆแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตสูงกว่าแต่ก่อนได้
**เล็งออกมาตรการเฉพาะกลุ่ม **
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่พายุกำลังมา เรือจะแล่นด้วยความเร็วแบบเดิมไม่ได้ โจทย์ของนโยบาย จึงใช่เรื่องการกระตุ้นให้เรือแล่นไปเร็วแบบเดิม แต่อยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้ช็อคที่เจอเบาลง และผลกระทบไม่ลึกมาก การช่วยหรือเอื้อให้การเกิดการปรับตัวได้เร็วขึ้น และเอื้อให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวดีกว่าเดิม ดังนั้นมาตรการที่จะต้องออกมา ต้องไม่ใช่ เป็นอะไรที่ปูพรม เพราะผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้น จะมีความแตกต่างกันไปค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ตรงไหน เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มคิดเป็น 0.8% ต่อจีดีพีของไทย โดยมีสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกคิดเป็น 77% แต่ผู้ส่งออกในกลุ่มนี้ 200 ราย หรือคิดเป็น 50% ของบริษัททั้งหมด และ 75% ของมูลค่าส่งออก เป็นบริษัทต่างชาติ โดยมีเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้อง 5,000 ราย และมีการจ้างงานอยู่ที่ 1.4 แสนคน
ในส่วนนโยบายที่จะออกมาช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจากต่างประเทศที่ทะลักเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษ นโยบายที่ออกมาจะต้องแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ โดยต้องมีมาตรการในเชิงการค้า เช่น มาตรการ Anti-dumping หรือการบังคับใช้มาตรฐานต่างๆ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินมาตรการเพื่อรับมือกับผลกระทบของสงครามการค้าในหลายเรื่อง โดยดำเนินนโยบายการเงินที่เรียกว่า ‘integrated policy framework’ หรือ การดำเนินนโยบายการเงินที่ควบคู่ไปกับนโยบายอื่นๆ เช่น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด กนง.ลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อรองรับ Outlook และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
“ด้วยความลูกกระสุนมีจำกัด ก็มองว่าจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงมา 2 ครั้งติดต่อกัน มองว่าเพียวพอที่จะรองรับ พายุที่กำลังมาระดับหนึ่ง แต่ถ้าทุกอย่างลงหนัก แรงกว่าที่คาด คือ Outlook เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ เราพร้อมที่จะปรับ แต่ ณ ตอนนี้ เพียงพอที่จะรองรับการslowdown แล้ว แต่ถ้า Outlook แย่ลงไปอีก เราพร้อมที่จะปรับนโยบาย”ผู้ว่าการธปท.กล่าว
ธปท.ให้ความสำคัญและมีการดูแลตลาดให้ทำงานได้ต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูงมากๆ ขณะเดียวกัน มาตรการ Responsible Lending ซึ่งเน้นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ โดยต้องปรับโครงสร้างหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนเป็นหนี้เสีย และหลังจากเป็นหนี้เสียแล้ว ให้ปรับโครงสร้างหนี้อีก 1 ครั้ง เป็นมาตรการที่ทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินมาตรการเฉพาะเจาะจง อย่าง ‘คุณสู้เราช่วย’ เป็นต้น ซึ่งกำลังหามาตราการเพื่อดูแลกลุ่มที่ดีรับผลกระทบเป็นแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้เกิดผลได้เร็วและตรงจุด ดีกว่ามาตราการเหมารวมที่มีข้อจำกัด