xs
xsm
sm
md
lg

ttb ชี้นโยบายTrump 2.0 ฉุดส่งออก เสี่ยงชะลอยาว กดจีดีพีโตแค่ 1.1%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต(ttb analytics) มองนโยบายภาษีของทรัมป์ในปัจจุบัน (Trump 2.0) เร่งให้พลวัตการค้าโลกย้อนกลับไปสู่ “ยุคของการกีดกันทางการค้า” หรือ Protectionism เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ส่งผลกระทบต่อไทยซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจแบบระบบเปิดขนาดเล็ก โดยผลจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ที่มีต่อภาคส่งออกไทยจะส่งผ่านมาทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะกระทบต่อสินค้าในหลายหมวด ได้แก่ (1) กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เครือข่ายและการสื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้า (2) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางพารา เฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน และ (3) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจำกัด เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ล่าสุดทรัมป์ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ออกไปชั่วคราว และจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าแบบถ้วนหน้า (Universal Tariff) ที่ระดับ 10% (ยกเว้นจีน 145%) ttb analytics มองว่า อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บในยุคของทรัมป์อาจไม่สามารถกลับไปที่ระดับเดิมในปี 2567 (อัตราภาษีสินค้านำเข้าจากทุกประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4% อ้างอิงจากข้อมูลคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ) แม้คู่ค้าหลักจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้แล้วก็ตาม ซึ่งการยกระดับนโยบายกีดกันทางการค้าภายใต้ Trump 2.0 จะยิ่งทำให้ภูมิทัศน์การค้าโลกมีความตึงเครียดขึ้น และจะส่งผลให้ภาคส่งออกไทยมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว สะท้อนผ่านการวิเคราะห์การตอบสนองต่อสิ่งรบกวน (Shock) จากการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ต่อมูลค่าการส่งออกไทยผ่านแบบจำลองการตอบสนองอย่างฉับพลัน (Impulse Response Function : IRF) ในระหว่างปี 2553-2567 ซึ่งพบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชั่วคราวในช่วง 1-4 ไตรมาสแรกหลังจากการ (ส่งสัญญาณ) ขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ แต่กลับจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยในระยะยาว ซึ่งผลกระทบสะสมยังคงรุนแรงแม้จะผ่านไปแล้ว 24 ไตรมาส

ttb analytics ประเมินว่า หากสหรัฐฯ ใช้การจัดเก็บภาษีนำเข้าในระดับเดียวกันทั้งหมด (ยกเว้นจีน) ในอัตราภาษี Universal Tariff 10% และอัตราภาษีนำเข้าเฉพาะกลุ่มสินค้า (Sectoral Tariff) 25% อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัย แต่หากกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) ซึ่งไทยอาจยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด และถูกจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าซึ่งอ้างอิงจาก Reciprocal Tariff ที่ระดับ 36% และสูงกว่าประเทศคู่แข่งหลาย ๆ ประเทศ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยสูงถึง 1.1% ของจีดีพีภายในระยะเวลา 1 ปี (ซึ่งยังไม่นับรวมผลกระทบต่อเศรษฐกิจทางอ้อมในรูปแบบอื่น) เนื่องจากไทยเป็นประเทศระบบเปิดขนาดเล็ก และมีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยด้วยมูลค่าส่งออกคิดเป็นเกือบ 9% ของจีดีพี

ทั้งนี้ กล่าวโดยสรุป ในปี 2568 แนวนโยบายการค้า Trump 2.0 ซึ่งมุ่งเน้นการเจรจาต่อรองกับประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นดาบสองคมต่อทั่วโลกและอาจนำมาซึ่งการโดดเดี่ยวของสหรัฐฯ ชัดเจนขึ้น โดยแม้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อย่างเต็มรูปแบบจะถูกเลื่อนออกไปชั่วคราว แต่คาดว่าจะเพิ่มความไม่แน่นอนทางการค้าและตลาดการเงินโลกในระยะข้างหน้า และจะเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องเร่งรับมือจากการเบี่ยงเบนของห่วงโซ่อุปทานโลก ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการควบคุมกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มข้น ควบคู่กับการยกระดับศักยภาพความสามารถในการแข่งขันรองรับการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
กำลังโหลดความคิดเห็น