xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 33.02-ดอลลาร์รับแรงหนุนอยู่จากแนวโน้มการเจรจาการค้าที่ดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(9พ.ค.68) ที่ระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.83 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.95-33.30 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้าน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้สำเร็จ (แกว่งตัวในกรอบ 32.75-33.12 บาทต่อดอลลาร์) ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้รับอานิสงส์จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ท่ามกลางความหวังสถานการณ์สงครามการค้าจะทยอยคลี่คลายลงได้ จากล่าสุดที่สหรัฐฯ กับอังกฤษ สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเบื้องต้น อีกทั้ง ทางการสหรัฐฯ กับจีนก็เตรียมที่จะเจรจาการค้าในช่วงสุดสัปดาห์นี้

ขณะเดียวกัน รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ล่าสุดซึ่งออกมาดีกว่าคาด ก็มีส่วนช่วยหนุนเงินดอลลาร์ ผ่านการปรับลดความคาดหวังเฟดเร่งลดดอกเบี้ย โดยผู้เล่นในตลาดกลับมาประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 76% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ในปีนี้ นอกจากนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินดังกล่าว ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง และจังหวะย่อตัวลงของราคาทองคำดังกล่าวก็มีส่วนยิ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) เดือนเมษายน

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด ซึ่งมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญในช่วงนี้ได้

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา จนทะลุโซนแนวต้าน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ นั้น ไม่ได้เหนือความคาดหมายของเราไปมากนัก เนื่องจากเงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ท่ามกลางความหวังแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึง ธีมเฟดไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย (Higher for Longer) ก็อาจกลับมาอีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรและลดสถานะ Short USD (มองเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง) โดยเฉพาะในจังหวะที่ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) สามารปรับตัวขึ้นทะลุโซน 100 จุด ซึ่งจะเป็นสัญญาณเข้าซื้อในเชิงเทคนิคัล ตามกลยุทธ์ Trend-Following (ซึ่งภาพดังกล่าวก็เกิดขึ้นกับบรรดาสกุลเงินหลัก อาทิ สัญญาณ Long USDJPY, Short EURUSD และ Short GBPUSD)

อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดดังกล่าว อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อหุ้นไทย ทว่า เราคงมุมมองเดิมว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ ทั้งบอนด์ระยะสั้นและบอนด์ระยะยาวเพิ่มเติม ทำให้เงินบาทอาจไม่ได้รับอานิสงส์จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติมากนัก

และที่สำคัญ เรามองว่า แม้ราคาทองคำจะถูกกดดันบ้างจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างยังคงรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวอยู่ ทำให้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกจำกัดได้ หากราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้น แต่โดยรวมเราคงมุมมองเดิมว่า ราคาทองคำยังอยู่ในช่วงของการพักฐาน ทำให้ความผันผวนของราคาทองคำนั้น ส่งผลให้เงินบาทเผชิญความเสี่ยงแบบ Two-Way Volatility ขึ้นกับแนวโน้มราคาทองคำ

โดยรวมเรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซนแนวต้านใหม่ 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ชัดเจน ก็จะเกิดสัญญาณ Long USDTHB สะท้อนโอกาสเงินบาททยอยอ่อนค่าลง ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ขณะที่โซนแนวรับอาจขยับขึ้นมาแถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแนวรับถัดไปในช่วง 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์ ตามเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น