EXIM BANK รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2568 ยอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ 1 หมื่นล. -ยอดคงค้างรวม 1.9 แสนล้านเพิ่มขึ้น 9.03% และกำไรสุทธิ 427 ล้านบาทสูงกว่าที่กำหนดไว้ในแผนธุรกิจ พร้อมหนุนผู้ประกอบการไทยเพิ่มความแข็งแกร่งสู่ตลาดโลก ท่ามกลางความท้าทายจากสงครามการค้าที่ร้อนระอุ
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 มีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 10,961 ล้านบาท และมีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพัน 189,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 9.03% ในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันเพื่อการลงทุน 137,636 ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 72.47% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด โดยเป็นสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันในโครงการระหว่างประเทศ 44,503 ล้านบาท สะท้อนบทบาทด้านการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนไทยในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เมื่อจำแนกเป็นรายตลาดที่สำคัญ EXIM BANK ยังสนับสนุนธุรกิจไทยให้ขยายไปกลุ่มประเทศ CLMV และตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่มีศักยภาพ โดยมีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันในกลุ่ม CLMV และ New Frontiers จำนวน 39,654 ล้านบาท
นอกจากนี้ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังยังคงดำเนินบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาภายใต้หลักการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG)มาอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดสินเชื่อ Green Loan คงค้างและภาระผูกพันเพื่อความยั่งยืนสูงถึง 77,387 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40.75%ของสินเชื่อรวม
และบริการประกันการส่งออกและการลงทุน เพื่อช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาคต่าง ๆ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจสะสมบริการประกันเท่ากับ 53,271 ล้านบาท และ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2568 EXIM BANK มีจำนวนลูกค้า 5,201 ราย ในจำนวนนี้เป็นลูกค้า SMEs มากถึง 78.97%
ทั้งนี้ ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน ทำให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 EXIM BANK มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 6,822 ล้านบาท คิดเป็น NPL Ratio ที่ 3.83% และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 17,545 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 257.18% เพิ่มเกราะป้องกันความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาการตอบโต้ทางการค้า ส่งผลให้ EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 427 ล้านบาท สูงกว่าที่กำหนดไว้ในแผนธุรกิจ และสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 223.20%
ด้านสังคม EXIM BANK เดินหน้าช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการไทยในทุกห้วงเวลา ทั้งภาวะวิกฤตและช่วงฟื้นตัว โดยออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินแบบเฉพาะกลุ่ม อาทิ มาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ที่ประสงค์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (มาตรการ Pre-emptive) เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารอย่างตรงจุดและทันท่วงที และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ในกลุ่มเปราะบางที่มีหนี้วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทให้สามารถ “ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว” ตามโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” ด้วยภาระดอกเบี้ยที่ลดลง รวมถึงสนับสนุนเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องและจัดการความเสี่ยงได้อย่างครบวงจร
"ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกยังเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง และท่ามกลางความท้าทายที่ถาโถมเข้ามาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2568 EXIM BANK ยังคงอยู่เคียงข้างและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่สอดรับกับนโยบายรัฐและมาตรฐานสากล ด้วยผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป"