xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 32.66-ติดตามผลการประชุมเฟด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(7พ.ค.68) ที่ระดับ 32.66 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.55-32.90 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC) โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.56-32.71 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงวันที่ผ่านมา โดยการแข็งค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาทิ ฝั่งผู้นำเข้า หลังเงินบาทได้แข็งค่าเข้าใกล้โซนแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์

ขณะเดียวกันโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ก็มีส่วนช่วยลดทอนการแข็งค่าของเงินบาท ทั้งในส่วนของโฟลว์ธุรกรรมน้ำมัน และราคาทองคำ โดยเฉพาะในส่วนของราคาทองคำนั้น จังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงบ้าง แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways หลังผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบปรับสถานะถือครองเพิ่มเติม เพื่อรอจับตาผลการประชุม FOMC ของเฟดที่จะถึงนี้

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุม FOMC ของเฟด ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 1.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ของเช้าวันที่ 8 พฤษภาคม นี้ โดยเรามองว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.25-4.50% เพื่อรอประเมินแนวโน้มนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจให้ชัดเจนเสียก่อน ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในช่วง Press Conference อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง ในปีนี้ ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยที่มากกว่าการคาดการณ์ของเฟดใน Dot Plot ล่าสุด ในการประชุมเดือนมีนาคม

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมีนาคม เพื่อประกอบการประเมินภาพเศรษฐกิจยูโรโซน

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาท จนทะลุโซนแนวรับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้เป็นแนวรับทั้งสัปดาห์นี้ นั้น เหนือความคาดหมายของเราไปมาก โดยเรามองว่า ปัจจัยที่หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทดังกล่าวนั้น มาจากทั้ง การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ที่ยังหนุนการรีบาวด์ขึ้นแรงของราคาทองคำ ซึ่งได้แรงหนุนจากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน การแข็งค่าขึ้นเร็ว แรง ของเงินบาท ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนจำเป็นต้องปรับสถานะถือครอง โดยเฉพาะฝั่งที่มีสถานะ Long USDTHB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) อาจเจอการ Stop Loss ได้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็ดูจะสอดคล้องกับแรงซื้อบอนด์ระยะสั้นจากบรรดานักลงทุนต่างชาติในวันก่อนหน้าที่สูงเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟดนั้น การเคลื่อนไหวของตลาดการเงินอาจมีทิศทาง Sideways ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้ ที่มีไม่มากนัก (มีเพียงยอดค้าปลีกของยูโรโซนที่น่าสนใจ) ทว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากราคาทองคำเผชิญแรงขายทำกำไรเพิ่มเติม จนย่อตัวลงต่อเนื่อง โดยเราคงมองว่า เงินบาทยังมีความอ่อนไหว (Beta) กับการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำ ราว 0.3-0.5 (หากราคาทองคำย่อตัวลง -1% อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ราว -0.3% ถึง -0.5%) ทว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังบรรยากาศในตลาดการเงินก็ยังอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว เข้ากับธีม Because of You (Trade Uncertainty) Gold Shines (BUGS) นอกจากนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจใช้จังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ได้

ทั้งนี้ เราขอเน้นย้ำว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด โดยสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาสะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) อาจมีกรอบการแกว่งตัว +/-1 SD ราว +0.33%/-0.18% ในช่วงหลังตลาดรับรู้การประชุมดังกล่าว 30 นาที อย่างไรก็ตาม เรามองว่า ช่วง Press Conference ของประธานเฟด ก็อาจเป็นอีกช่วงเวลาที่ตลาดการเงินอาจผันผวนสูงขึ้นได้เช่นกัน โดยในกรณีที่ ประธานเฟดไม่ได้แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนัก และย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย ก็อาจช่วยหนุนเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้บ้าง แต่หากประธานเฟดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ บ้าง และไม่ปิดโอกาสที่เฟดจำเป็นต้องลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดอาจตีความว่า เฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ซึ่งภาพดังกล่าว อาจกดดันเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ให้ย่อตัวลงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น