นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ธนาคารกลางยังไม่มีแรงจูงใจดึงประชาชนใช้งานจริง ขณะความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและโครงสร้างพื้นฐานยังคงสูง แม้ทางการพยายามโหมประชาสัมพันธ์ว่าระบบ “เกือบพร้อม” แล้วก็ตาม
นักเศรษฐศาสตร์ประเมินการเปิดตัว “รูเบิลดิจิทัล” หรือสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางรัสเซีย (CBDC) ที่เดิมกำหนดเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 กำลังเผชิญความไม่แน่นอนอย่างหนัก หลังจากธนาคารกลางเลื่อนแผนออกไปแบบไม่มีกำหนดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมองว่าชาวรัสเซียอาจต้องรอถึงปี 2570 กว่าที่ระบบจะเปิดใช้งานทั่วประเทศอย่างแท้จริง
อเล็กเซย์ วอยลูคอฟ ศาสตราจารย์ด้านการเงินดิจิทัลจาก Presidential Academy ในกรุงมอสโก ระบุว่า หากไม่มีแรงจูงใจที่เพียงพอจากรัฐและภาคการเงิน ประชาชนจะไม่หันมาใช้รูเบิลดิจิทัลอย่างแพร่หลาย พร้อมทั้งชี้ว่า “ครึ่งหลังของปี 2569 ” อาจเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเริ่มใช้เงินดิจิทัลนี้ในชีวิตประจำวันได้จริง แต่ถ้าให้ประเมินอย่างเป็นกลาง ปี 2570 น่าจะเป็นเป้าหมายที่ “เป็นจริงมากกว่า” สำหรับการเปิดตัวระดับประเทศ
คำพูดของวอยลูคอฟขัดแย้งกับท่าทีของกระทรวงการคลังรัสเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งให้ข่าวกับสื่อว่า ระบบ CBDC “เกือบพร้อมใช้งาน” แล้วและจะเดินหน้าเปิดตัวตามแผน
แอนตัน ซิลูอานอฟ รัฐมนตรีคลังของรัสเซียยังเคยกล่าวว่า รัฐได้ทดลองใช้รูเบิลดิจิทัลกับธุรกรรมด้านงบประมาณแล้วหลายรายการในช่วงปีที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า “เงินดิจิทัลของรัฐมีความน่าเชื่อถือ 100%”
ขณะนี้ ธนาคารใหญ่ของรัสเซีย 15 แห่ง รวมถึง Sberbank และ T-Bank (ชื่อเดิม Tinkoff Bank) กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบระบบและฟีเจอร์ต่างๆ ของเหรียญดิจิทัลนี้
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในภาคการเงินดูเหมือนจะสวนทางกับความมั่นใจของรัฐบาล ผู้ว่าการธนาคารกลาง เอลวีรา นาบิอุลลินา แม้จะยังสนับสนุน CBDC อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยอมรับเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า “อาจต้องชะลอแผนเปิดตัว”
ด้านภาคธนาคารพาณิชย์เองก็แสดงท่าทีลังเล เช่นเดียวกับประชาชนที่ยังมีความกังวลหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และความยุ่งยากของระบบการชำระเงินด้วย QR code
วอยลูคอฟอธิบายว่า รูเบิลดิจิทัลไม่ได้มีข้อได้เปรียบที่เห็นชัดเมื่อเทียบกับระบบการชำระเงินแบบเดิม เช่น บัตรเครดิตหรือแอปธนาคาร อีกทั้งการใช้ QR code ยังต้องพึ่งพาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสัญญาณมือถือที่เสถียร ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในพื้นที่ชนบทของประเทศ
ข้อมูลจากปี 2566 ระบุว่า ครัวเรือนรัสเซียราว 88% มีอินเทอร์เน็ตใช้ แต่ในพื้นที่ชนบท ตัวเลขนี้อาจลดลงเหลือเพียง 83% ทำให้เกิดความกังวลว่าการเข้าถึง CBDC อาจกระจุกตัวอยู่ในเมือง
กรณีนี้ทำให้นักวิชาการหลายฝ่ายเสนอให้รัสเซียเรียนรู้แนวทางจากจีน ซึ่งได้ทดลองใช้ “กระเป๋าเงินดิจิทัลแบบออฟไลน์” สำหรับหยวนดิจิทัล เพื่อลดการพึ่งพาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
วอยลูคอฟสรุปว่า การนำรูเบิลดิจิทัลมาใช้อย่างแพร่หลายจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อธนาคารกลางและภาคธนาคารสามารถแสดงให้ประชาชนเห็นว่าเหรียญดิจิทัลนี้มี “ข้อได้เปรียบที่จับต้องได้” มากกว่าระบบเดิมที่พวกเขาคุ้นเคย
“ถ้าจะให้คนหันมาใช้ ต้องทำให้เขารู้สึกว่ามันง่ายกว่า เร็วกว่า หรือคุ้มค่ากว่า ไม่ใช่แค่บอกว่า ‘ปลอดภัย’ แล้วจบ” เขากล่าวปิดท้าย