xs
xsm
sm
md
lg

"เอเชียพลัส" แนะจับตา ‘Sell in May‘ หุ้นไทย ยังมีแรงขาย ชี้ สงครามการค้า-จีดีพีต่ำ เป็นปัจจัยป่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บล.เอเซีย พลัส” มองแรงขายหุ้นไทยเดือน พ.ค. Sell in May ยังมีอยู่ จากสงครามการค้า ปั่นป่วน กระทบเศรษฐกิจไทยปีนี้ต่ำสุดในอาเซียน คาดดัชนีฯ ผ่านจุดต่ำสุดแล้วที่ 1,060 จุด


เป็นประจำทุกๆ ปีของเดือนพ.ค. ที่นักลงทุนคาดว่าจะเกิดภาวะ “Sell in May” หรือ การขายสินทรัพย์เสี่ยงจำพวกหุ้นในเดือนพ.ค. สะท้อนตามความเชื่อที่ว่านักลงทุน “ขายทำกำไร” ในเดือนนี้ หลังรับรู้ทิศทางผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 1 แล้ว ดังนั้น ในเดือนพ.ค. 2568 “เหล่ากูรู” ให้มุมมองกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปีนี้นักลงทุนอาจต้องเผชิญความท้าทายระดับสูง จากความไม่แน่นอนในตลาดที่ยังคงอยู่เต็มทั้งปัจจัยใน-นอกประเทศ

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส เปิดเผยว่า สถานการณ์ Sell in May ในตลาดหุ้นไทยเดือนพ.ค. มองว่า โอกาสเกิดแรงขายหุ้นไทยยังคงมีอยู่ ด้วยกระแสความไม่แน่นอนสูงทั้งจากสงครามการค้าสหรัฐกับประเทศคู่ค้าต่างๆ รอความชัดเจนไปจนถึงเดือนก.ค. น่าเป็นช่วงที่กำลังปั่นป่วนพอสมควรในกระแสต่างๆ ต้องรอประเมินสถานการณ์ และติดตามผลการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่เริ่มมีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีไทยปีนี้แล้ว

ประเมินกรอบดัชนีเดือนพ.ค. แนวรับไม่ต่ำกว่า ระดับ 1,060 จุด และแนวต้าน 1,180 จุด จากขณะนี้ดัชนีแกว่งตัวบริเวณ 1,150-1,180 จุด ภายใต้มุมมองการประชุมกนง. รอบ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ทำให้ผลตอบการลงทุนในตลาดหุ้นจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร

อย่างไรก็ตาม ตลาดรับข่าวลดดอกเบี้ยลงในภาวะที่มีความสุ่มเสี่ยงในเชิงเศรษฐกิจ ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำสุดใน “ภูมิภาคอาเซียน” ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส คาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เติบโต 1.5-1.6% สอดคล้องกับสำนักงานเศรษฐกิจต่างๆ คาดการณ์เติบโต 1-2% ทำให้การปรับลดดอกเบี้ยรอบนี้ มีผลต่อเซนติเมนต์ในตลาดหุ้นไทยบ้างแต่ไม่มากนัก

“แม้ขณะนี้ภาพรวมในเชิง Valuation ของหุ้นไทยถือว่าถูกแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะถูก Sell in May ยังคงมีอยู่ มองว่าเดือนพ.ค.เป็นช่วงก่ำกึ่งมามาก แต่มองว่า ดัชนีหุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,060 จุดแล้ว ในวันที่สหรัฐตั้งกำแพงกับไทยที่ 36% เป็นวันที่ตลาดหุ้นไทยรับผลกระทบหนักที่สุดจากสงครามการค้าแล้วและหลังจากนั้นสถานการณ์ผ่อนคลายมากขึ้น”

สำหรับ “กลยุทธ์การลงทุน” หุ้นเด่นเดือนพ.ค. มองว่าเป็นหุ้นขนาดกลางและใหญ่ ยังมีความน่าสนใจ ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ดี และกำไรยังมีโอกาสเติบโตดี เช่น SCC, CPALL, BDMS, WHA

ขณะที่ หุ้นกลุ่มแบงก์ได้รับผลกระทบล่วงหน้าและราคาหุ้นค่อนข้างถูกมากแล้ว ปัจจุบันให้ปันผลเฉลี่ย 7-8% ค่อนข้างสูง นับว่ามีความน่าสนใจระดับแล้ว ดังนั้น ผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยในระยะสั้นจะเห็นราคาหุ้นปรับลงมา แต่มองราคาหุ้นแบงก์ปรับลงมารอบนี้เป็นจุดที่น่าจะทยอยเข้าไปสะสมแล้ว

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์ Sell in May ปีนี้ มองผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยเดือนพ.ค.นี้ “ดาวไซด์จำกัด” จากโดยปกติในเดือน พ.ค. ตลาดหุ้นไทยมักมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนทยอยขึ้นเครื่องหมาย XD และทำให้นักลงทุนต่างชาตินำเงินกลับประเทศส่งผลให้ค่าเฉลี่ย 10 ปีไม่รวมช่วงโควิด 19 มีมูลค่าราว 10,890 ล้านบาท และผลตอบแทนของ SET Index ในเดือนพ.ค. -0.9%

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ศึกษาการเคลื่อนไหวของดัชนี พบว่า SET Index น่าจะปรับตัวลงในช่วงครึ่งแรกของเดือน พ.ค. และทยอยฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลัง ดังนั้น “เชิงกลยุทธ์การลงทุน” มองว่า เน้นไปที่การพักเงินในหุ้นที่มี SET ESG Rating สูงมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ดีกว่า SET Indexเพราะได้แรงหนุนจากเม็ดเงินใหม่ของกองทุนThai ESGX ซึ่งจะช่วยจำกัด ดาวน์ไซด์ได้ ได้แก่ CPALL, GPSC, BEM, GULF, KBANK, KTB, MTC ,THCOM

ส่วนช่วงครึ่งหลังของเดือน พ.ค. จากสถิติพบว่า อุตสาหกรรมที่เคลื่อนไหวได้ดีกว่าตลาด (Outperform) ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มที่บริษัทมักจะให้ Guidance ที่ดี เพราะไตรมาส 2 ปี 2568 เป็นช่วง High Season ได้แก่ ICHI, OSP ,CPF, BTG รวมไปถึง กลุ่มไฟแนนซ์ที่มีปัจจัยหนุน คือ ทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ กนง. ได้แก่ SAWAD, MTC

นายรัฐศักดิ์ พิริยะอนนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ Sell in May ปีนี้มอง “ดาวน์ไซด์ระยะสั้นเริ่มจำกัด” โดยภาพดัชนีเริ่มมีการฟื้นตัว หลังรับรู้ข่าวลบไปมากแล้ว อีกทั้ง ยังไม่มีประเด็นลบใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ขณะที่ตลาดเริ่มมองบวกจากความคาดหวังเห็นความคืบหน้าเรื่องการเจรจาการค้า, การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง., มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเม็ดเงินลงทุนใหม่จากกองทุน Thai ESGX

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาทางรัฐบาลจะมีการเลื่อนการเข้าพูดคุยเจรจาการค้ากับทางฝั่งสหรัฐ โดยที่ยังไม่มีกำหนดพูดคุยใหม่ แต่มองว่าความสนใจของตลาดดูเหมือนมุ่งเน้นไปที่ความคืบหน้าการเจรจาคู่ค้าอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และยุโรป บนความเชื่อที่ว่าหากมีคู่ค้าแรกที่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐได้ จะทำให้สามารถเข้าใจในเป้าหมายของการเจรจากับสหรัฐ และอาจทำให้การพูดคุยในรอบต่อๆ มาง่ายขึ้น

ทั้งนี้ หากไม่มีปัจจัยลบใหม่เข้ามากดดันเดือนพ.ค. มองกรอบแนวรับที่ระดับ1,130-1,150 จุด เชื่อยังไม่น่าหลุด และแนวต้านที่ระดับ 1,190-1,210 จุด เป็นระดับอาจจำกัดการฟื้นตัวระยะสั้น รอความชัดเจนประเด็นบวกเพิ่มเติม

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนเรา แนะนำเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยงได้ในระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรกับบรรยากาศการลงทุนที่พลิกกลับมาเป็นบวกบนความคาดหวังเรื่องความคืบหน้าการเจรจาการค้า, ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.,มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเม็ดเงินลงทุนใหม่จากกองทุน Thai ESGX มีหุ้นเด่น ได้แก่ CPF, BTG, CPALL,CPN ,BDMS


กำลังโหลดความคิดเห็น