โลกคริปโตปั่นป่วนอีกครั้ง หลังพบธุรกรรมลึกลับโอนบิทคอยน์กว่า 3,520 BTC คิดเป็นมูลค่าราว 330.7 ล้านดอลลาร์ ท่ามกลางข้อสงสัยว่าเป็นแผนการฟอกเงินผ่านเหรียญ XMR หรือ Monero ซึ่งเป็นคริปโตสาย Privacy Coin ที่ขึ้นชื่อเรื่องการปกปิดตัวตนผู้ส่ง-ผู้รับ และเป็นตลาดศูนย์กลางของเหล่าอาชญากร นักฟอกเงินทั่วโลก ฟากนักวิเคราะห์ชื่อดัง “ZachXBT” ออกโรงเตือนชี้การเคลื่อนไหวนี้น่าจะเชื่อมโยงกับการแฮ็ก Monero ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน และอาจไม่ใช่แค่การซุกซ่อนร่องรอย แต่เป็นแผน “ปั่นแล้วทิ้ง” (Pump and Dump) ที่ผสานตลาดอนุพันธ์เข้ามาในเกมด้วย
ทำไมต้อง XMR? เหตุใดแฮกเกอร์ไม่เล่น Stablecoin เหมือนเดิม
การเลือกใช้ XMR เป็นตัวกลางฟอกเงินถือว่าผิดแผกจากวิธีเดิมๆ ที่นิยมใช้ USDT หรือ ETH ซึ่งมีสภาพคล่องสูงกว่า แต่อย่างที่รู้กัน XMR ซ่อนตัวได้แนบเนียน ทั้งผู้ส่ง ผู้รับ และจำนวนธุรกรรม ทำให้การตามหาตัวผู้เกี่ยวข้องแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ในทางกลับกัน สภาพคล่องของ Monero กลับต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การโอนในปริมาณมากเสี่ยงต่อการ “ลื่นไถล” ของราคา (Slippage) และนั่นอาจเป็นสิ่งที่แฮกเกอร์ต้องการความผันผวนที่นำไปสู่การชิงจังหวะในตลาดอนุพันธ์
สร้างความสับสนปั่นสองทาง! ตลาดอนุพันธ์กลายเป็นสนามล่าเงิน
สิ่งที่น่าสนใจคือ แฮกเกอร์ไม่ได้แค่ฟอกเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังจงใจปั่นราคา XMR ในตลาดจริง แล้วเปิดตำแหน่ง “ซื้อ” (Long) ในตลาดอนุพันธ์ไว้ล่วงหน้า เพื่อเก็งกำไรจากราคาที่จะพุ่งขึ้น เทคนิคนี้คล้ายกับที่เคยเกิดในโทเค็นขนาดเล็กอย่าง JELLY บน HyperLiquid และกรณีอื้อฉาว Mango Markets มูลค่า 114 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2022 ที่นำไปสู่การตัดสินโทษ Avi Eisenberg อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2567
มุขเก่ายังได้ผล สูตร DeFi เดิมๆ ยังทำงาน
ขั้นตอนการวางหมากของแฮกเกอร์รายนี้เหมือนหยิบ “ตำราการจัดการตลาด” ในโลก DeFi มาใช้อีกครั้ง นั่นคือการใช้สินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่องเพื่อดันราคาตลาด spot แล้วไปทำกำไรในอนุพันธ์ที่มีสภาพคล่องสูงกว่า เช่นเดียวกับ JELLY และ Mango Markets ที่อาศัยการกำหนดราคาผิดพลาดเพื่อกวาดกำไร
Monero เจอความเสี่ยงรุนแรงอาจพุ่งหรือดิ่ง เพราะ “Slippage” สูง
แม้ XMR จะปิดบังร่องรอยได้ดี แต่กลับเต็มไปด้วยความผันผวนสูง การขยับของราคาแม้เพียงนิดก็สามารถส่งผลต่อกลยุทธ์การเทรดได้มหาศาล นี่จึงกลายเป็นดาบสองคมในขณะที่ความลับของ XMR ปกป้องผู้ใช้งานจากการติดตามกลับ แต่ก็อาจกลายเป็นช่องทางให้แฮกเกอร์เจ้าเล่ห์ปั่นตลาดได้อย่างแยบยล
เมื่อรัฐเริ่มเพ่งเล็ง อาจเป็นเวลาตอกฝาโลง Monero
แม้ Monero จะได้รับการยกย่องจากสาย Privacy ว่าเป็นเหรียญที่ให้สิทธิในความเป็นส่วนตัวอย่างแท้จริง แต่การที่มันถูกใช้ในกิจกรรมอาชญากรรมบ่อยครั้งขึ้น อาจเป็นชนวนให้รัฐบาลทั่วโลกเริ่มเคลื่อนไหวออกมาตรการกำกับดูแล XMR มากขึ้น เหมือนอย่างที่เคยเกิดกับ Tornado Cash ที่ถูกขึ้นบัญชีดำ
กรณีนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ใหม่ในโลกคริปโต ที่ความโปร่งใสของบล็อกเชนกำลังถูกท้าทายอย่างถึงแก่น และ Monero อาจกลายเป็นสนามรบสำคัญของการต่อสู้ระหว่าง “สิทธิในความเป็นส่วนตัว” กับ “การกำกับดูแลอย่างเข้มข้น”