การตัดสินจำคุกนายประยุทธ มหากิจศิริ ฉายาเจ้าพ่อเนสกาแฟ มหาเศรษฐีติดอันดับต้นของประเทศไทย เจ้าของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากมาย กลายเป็นข่าวดังที่สื่อมวลชนทุกแขนงให้ความสนใจกันเป็นพิเศษ
นายประยุทธถูกศาลจังหวัดสุรินทร์ พิพากษาจำคุก 24 ปี พร้อมลูกสาวอุษณา มหากิจศิริ ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี ในความผิดรุกที่ดินของรัฐ ซึ่งก่อนหน้านายประยุทธถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 8 เดือน คดีบุกรุกที่ดินของรัฐในจังหวัดกระบี่ และถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด คดีรุกที่ดินของรัฐที่จังหวัดนครราชสีมา
หลายสิบปีที่นายประยุทธยืนอยู่ในแถวหน้าของบรรดามหาเศรษฐีของประเทศไทย แม้วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 จะมีข่าวว่า นายประยุทธถูกผลกระทบ จนฐานะทางการเงินสะเทือน ธุรกิจมีปัญหาแต่ยุคที่นายทักษิณ ชินวัตร รุ่งเรืองก่อนตั้งพรรคไทยรักไทย ซึ่งนายประยุทธเข้ารั้งตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และเดินตามหลังเป็นวอลล์เปเปอร์นายทักษิณอยู่เพียงไม่กี่ปี
กลุ่มมหากิจศิริก็ผงาดขึ้นมาใหม่ และเติบโตมีเครือข่ายหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่หลายบริษัท
เพียงแต่หุ้นกลุ่มมหากิจศิริ ปัจจุบันจะอยู่ภายใต้การดูแลของลูกชาย นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่อยู่ในสภาพตายซาก ผลประกอบการย่ำแย่ นักลงทุนจำนวนหลายหมื่นคนเสียหาย
กลุ่มมหากิจศิริถือหุ้นใหญ่ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ในสัดส่วนประมาณ 14.92% ของทุนจดทะเบียน ถือหุ้นในบริษัท ไทยฟิวเจอร์อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TFI สัดส่วน 39.43% ถือหุ้นใน บริษัท โพสโค-ไทยน๊อคซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ INOX สัดส่วนประมาณ 10% และถือหุ้นใน บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA ในสัดส่วนประมาณ 15% ของทุนจดทะเบียน
นอกจากนั้นยังกระจายเงินลงทุนถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนอีกหลายแห่ง แต่สัดส่วนการถือหุ้นไม่มาก
นายประยุทธเริ่มเข้ามาระดมเงินจากคลาดหุ้นครั้งแรก โดยนำหุ้น TFI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532
บริษัทจดทะเบียนของกลุ่มมหากิจศิริ มักมีโครงการลงทุนใหม่ และมักประกาศเพิ่มทุน ระดมเงินจากประชาชนผู้ลงทุน ก่อนโยกไปลงทุน รวมทั้ง TFI ซึ่งประมาณปี 2533 เคยประกาศเพิ่มทุนเพื่อขยายการลงทุนของบริษัท แต่กลับนำเงินเพิ่มทุนนับพันล้านบาท ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัท ไทยคอปเปอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสายทองแดงและเป็นบริษัทของนายประยุทธ
ประเด็นที่สำคัญ นอกจากเป็นการนำเงินเพิ่มทุนของ TFI ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์แล้ว ใบสำคัญแสดงสิทธิของซื้อหุ้นสามัญหรือวอร์แร้นต์ที่ บริษัท ไทยคอปเปอร์ จำกัด ออกและแจกฟรีกับผู้ที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้น กลับออกให้นายประยุทธ ไม่ได้ออกให้ TFI ซึ่งเป็นเจ้าของเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับธุรกรรมอันเข้าข่ายไม่โปร่งใส เป็นรายการเกี่ยวโยงกันและเอื้อประโยชน์ต่อนายประยุทธ แต่เรื่องก็เงียบไป
ต่อมา บริษัท ไทยคอปเปอร์ จำกัด ล้มละลาย เจ้าหนี้ได้ยึดทรัพย์ของบริษัท แต่มีข่าวว่า โรงงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีทองแดงสต๊อกอยู่ในโกดังจำนวนมาก ถูกคนนับสิบคนพร้อมรถบรรทุกบุกเข้าไปขโมยทองแดง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมแก๊งขโมยได้ แต่ไม่รู้ว่า ผลการสอบสวนเป็นอย่างไร ใครส่งมาขโมยทองแดงหรือไม่
การบุกรุกที่รัฐ ครอบครองเป็นของตัวเอง เพื่อใช้เป็นพื้นที่ของสนามกอล์ฟ เป็นความผิดร้ายแรง และแม้นายประยุทธจะมีข้ออ้างอย่างไรก็ตาม แต่คดีบุกรุกครอบครองที่ดินรัฐ โดยการออกโฉนดโดยมีชอบ ไม่ได้เกิดเพียงคดีเดียว หรือเกิดเพียงพื้นที่เดียว แต่เกิดขึ้นถึง 3 คดี ใน 3 จังหวัด ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงพฤติกรรมของนายประยุทธ
มหาเศรษฐีแถวหน้าของประเทศไทย ไม่ว่าสร้างสมความมั่นคั่งมาด้วยวิธีการใดบ้าง แต่ในวาระสุดท้ายที่ต้องพบจุดจบ ต้องชดใช้กรรมในคุก
คุ้มหรือไม่กับความมั่งคั่งที่ “ประยุทธ มหากิจศิริ” กอบโกยไว้ให้ลูกหลาน ซึ่งแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ยืนในสังคม