รมว.คลัง เตรียมปรับเกณฑ์”โครงการคุณสู้เราช่วย” และมาตรการ” จ่ายปิดจบ “ ขยายวงเงินเป็น 10,000 บาท จากเดิม 5,000 บาท พร้อมหารือแบงก์ นอนแบงก์ หาทางแก้หนี้กลุ่มต่ำกว่า 1 แสน หวังลดหนี้ครัวเรือนลงต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี คาดได้ข้อสรุปภายในเดือนมิถุนายน-กรกฏาคม 2568 นี้ โดยบางเรื่องต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ หวังหนี้ครัวเรือนลดลงต่ำกว่า 80 % ของจีดีพี
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน “MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปี กระทรวงการคลัง ว่า รัฐบาลได้เดินหน้าแก้หนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว ทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนแตะ 90 % ของจีดีพี โดยกระทรวงคลังมีแนวคิดที่จะใช้โครงการ”คุณสู้ เราช่วย”อย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะมีการปรับเกณฑ์เพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องและขยายความช่วยเหลือให้กับลูกหนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาศึกษารายละเอียก ส่วนมาตรการจ่ายปิดจบ จากเดิมที่กำหนดให้กลุ่มที่มียอดหนี้ต่ำกว่า 5,000 บาท ให้จ่าย 10% หรือ 500 บาท แล้วปิดจบหนี้ให้เลย โดยจะขยายให้เป็นยอดหนี้ต่ำกว่า 10,000 บาท
“แนวคิดที่จะขยายยอดหนี้ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้คนเข้ามาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้มากขึ้น คุณสู้เราช่วยตอนนี้ยอดเงินยังน้อย ลูหนี้ไม่สนใจที่จะเข้าโครงการ อีกทั้งลูกหนี้ที่มีวงเงินมากกว่า 5,000 บาทก็ไม่เข้าเกณฑ์ ทำให้ต้องพิจารณาขยายวงเงินให้สูงขึ้น เพื่อครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น”
สำหรับกลุ่มที่เป็นหนี้เสียต่ำกว่า 100,000 บาท จะมีการจัดการโดยแยกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และ นอนแบงก์ โดยในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สามารถดำเนินการได้ทันที สำหรับธนาคารพาณิชย์ มีกลุ่มที่เป็นหนี้เสียต่ำกว่า 100,000 บาท อยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท จะเข้าไปหารือต่อไป ในส่วนของนอนแบงก์มีมูลหนี้กลุ่มนี้อยู่ประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยจะเข้าไปหารือแนวทางแก้ไขเป็นรายสถาบัน
สำหรับการปรับเกณฑ์ดังกล่าว คาดว่าภายใน 2 เดือนข้างหน้า คือ มิถุนายน-กรกฏาคม 2568 จะได้ข้อสรุป และมีเกรฑ์การปรับเงื่อนไขการแก้หนี้ได้ ซึ่งบางเรื่องจำเป็นที่จะต้องนำเรื่องให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติ โดยเฉพาะในส่วนของธนาคารรัฐ ส่วนของธนาคารพาณิชย์ อาจจะต้องหารือกันก่อน เพื่อให้เป็นความสมัครใจร่วมกัน ดังนั้นจำนวนผู้ที่เป็นหนี้วงเงินน้อย ก็จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าแก้ไขปรับปรุงเกณฑ์ได้ จำนวนผู้เป็นหนี้เสียในระบบที่มีอยู่ประมาณ 5.4 ล้านราย จะสามารถลดลงได้ประมาณ 3 ล้านราย ส่วนกลุ่มที่เป็นหนี้เสียเกิน 100,000 บาท ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ดังนั้นจึงจะใช้แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้
“จำนวนลูกหนี้ 2 ล้านราย มีหนี้ที่เกิน 1 ล้านบาท รวมอยู่ถึง 5 แสนล้านบาท ดังนั้นพวกหนี้เอสเอ็มอี ก็ต้องให้เจ้าหนี้คุยกับเจ้าของกิจการ ทำให้ลูกหนี้มีความใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้นโดยเฉพาะกับรายเล็ก เชื่อว่าหนี้ส่วนใหญ่ก็ตั้งสำรองหมดแล้ว อยู่ที่ว่าจะหาวิธีอย่างไร ซึ่งมองว่าหนี้กลุ่มนี้ไม่เหมาะกับการใช้วิธีซื้อหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ดีกว่า”
นายพิชัย เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน ม.ค. 2568 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 88.6% ขณะที่จากการคำนวนคร่าวๆ คาดว่าในเดือน มี.ค. 2568 จะลดลงเหลือ 86% ทั้งนี้จากมาตรการแก้หนี้ทั้งหมดนี้ คาดหวังว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 80% รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูง ซึ่งหลายฝ่ายต้องช่วยกันเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ เพื่อดันให้จีดีพีของประเทศเติบโต