xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. เร่งเครื่องดันโทเคนคาร์บอนซื้อขายได้จริง หวังปั้นไทยเป็นศูนย์กลางตลาดเครดิตคาร์บอนดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก.ล.ต.ไฟเขียว Tokenized Carbon Credit ลุยตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นดันโทเคนสายเขียวซื้อขายได้ผ่านศูนย์ซื้อขาย–นายหน้า–ดีลเลอร์ หวังขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ดันเศรษฐกิจสีเขียวไทยสู่เวทีโลก

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เดินหน้าผลักดันสินทรัพย์ดิจิทัลสายเขียว เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคธุรกิจต่อร่างเกณฑ์ใหม่ ให้สามารถซื้อขาย Tokenized Carbon Credit, Tokenized Renewable Energy Certificate (REC) และ Tokenized Carbon Allowance ผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้โดยถูกกฎหมาย หวังสร้างโอกาสการลงทุนใหม่ สนับสนุนเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero พร้อมตั้งเป้าผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภูมิภาค

โดยแนวคิดนี้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 และมีสาระสำคัญครอบคลุมประเด็นหลัก 3 ด้าน คือ

1.ขยายประเภทสินทรัพย์ที่ให้บริการได้ — ครอบคลุมโทเคนดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม 3 ประเภท ได้แก่

- Tokenized Carbon Credit

- Tokenized Renewable Energy Certificate (REC)

- Tokenized Carbon Allowance

2.เพิ่มเกณฑ์กำกับเข้ม — ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีระบบที่ได้มาตรฐานทั้งในด้านการคัดเลือก–เพิกถอนโทเคน และการเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์ให้ผู้ลงทุนรับทราบอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้

3.บังคับปฏิบัติตามตลอดระยะเวลาให้บริการ — ต้องรักษามาตรฐานตามที่ได้รับอนุญาตอย่างต่อเนื่อง

แนวทางใหม่นี้ถือเป็นการเปิดประตูให้โทเคนสาย ESG เข้าไปร่วมวงในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งยังเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเดินหน้าสู่เป้าหมายเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเอกสารรับฟังความคิดเห็นได้ที่

- เว็บไซต์ ก.ล.ต. [คลิกที่นี่]

- ระบบกลางของสำนักงานกฎหมาย: [คลิกที่นี่]

ทั้งนี้สามารถส่งความคิดเห็นได้จนถึง วันที่ 12 พฤษภาคม 2568 ผ่านเว็บไซต์ หรืออีเมลที่ chananchida@sec.or.th และ thanapatk@sec.or.th

งานนี้ ใครสนใจโทเคนสายเขียว ต้องไม่พลาด! เพราะนี่คือการเปลี่ยนแปลงที่อาจสร้างตลาดใหม่มูลค่ามหาศาลให้กับไทยในอนาคต