xs
xsm
sm
md
lg

ห่วง S&P-ฟิทช์ ลดมุมมองไทยตามมูดีส์ - โบรกฯ เชื่อกระทบหุ้นจำกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกฯ มอง Moody’s หั่นลด Outlook ไทย เป็นติดลบ กระทบหุ้นไทยจำกัด มองแค่จิตวิทยาลบระยะสั้น "กรุงศรี" ชี้ แค่จิตวิทยาเชิงลบระยะสั้น แต่ยอมรับ ห่วงประเด็นต่างชาติอาจชะลอการลงทุน ขณะที่ต้นทุนการเงินประเทศจะสูงขึ้น ด้าน ดร."กอบศักดิ์" แนะไทยเร่งปรับตัว หวั่นถูกปรับลดเครดิตเรทติ้งตาม จับตา เอสแอนด์พี - ฟิทช์เรทติ้ง ทบทวนมุมมองของไทยตาม

วานนี้ (29 เม.ย.) Moody’s ได้ประกาศปรับลด Outlook Credit Rating ประเทศไทย เป็น “Negative” จากเดิม (“Stable”) เนื่องจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจและการคลังของไทยจะอ่อนแอลงต่อเนื่องและมาตรการภาษีสหรัฐฯที่ประกาศแล้วจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าโลกและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่ยังคงอันดับ Credit rating ที่ Baa1 เนื่องจากโครงสร้างสถาบันของไทยยังคงแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง และมีนโยบายการเงินการคลังที่พอใช้

กรุงศรี เชื่อ กระทบหุ้นไทยจำกัด เพียงจิตวิทยาระยะสั้น

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ จาก บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงจิตวิทยาลบนระยะสั้นๆ ต่อ SET Index เท่านั้น เนื่องจากสถิติในอดีต ช่วงที่ไทยถูกปรับ Outlook ลง พบว่าค่าเงินบาทไม่ได้ตอบสนองอย่างมีนัยยะ ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับลงเพียงช่วงสั้น และกลับมาที่ระดับเดิม/บางรอบปรับขึ้น จึงมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจำกัด และยังไม่ได้มีการปรับลด Credit rating ขณะที่หากพิจารณาในอดีตประเทศไทยไม่เคยถูกปรับลด Credit rating ลงตั้งแต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 1997

ทั้งนี้ บล.กรุงศรี ได้รวบรวมสถิติในอดีตดังกล่าว ดังนี้
 
- 1 ธ.ค. 2008 สถาบัน S&P (ปรับ Outlook จาก Stable - > Negative) : 1 วัน หลังปรับลด Outlook ลง SET index -3.6%d-d (Sector ปรับลงเกือบทุก Sector ยกเว้น เพียงกลุ่มชิ้นส่วน +0.4% (KCE +4%, HANA +1.7% SVI +1.3%) ส่วนกลุ่มที่ลบน้อยกว่า SET คือ ค้าปลีก -0.5%(CPALL+1.89% ) Agri -0.53%(UVAN +1.6% CPI -0.6%) Conmat -0.6% etc กลุ่มที่ลบมากกว่า SET คือ ธนาคาร -7.9%(SCB -12% KBANK -8% BBL -7%) etc หลังจากนั้นวันที่ 2 SET index กลับมาบวก +0.5% ( Sector ส่วนใหญ่ฟื้นตัว ยกเว้นเพียง กลุ่มธนาคาร กลุ่มยานยนต์ กลุ่มปิโตรเคมีที่ยังปรับลงต่อ) โดยรวมใช้เวลาราว 4 วันกลับมาที่ระดับเดิม

- 4 ธ.ค. 2008 สถาบัน Moody (ปรับจาก Stable > Negative) : 1 วัน หลังปรับลด Outlook ลง SET index ปรับขึ้นแรง +4.49%d-d หลักเดือนธันวาคม 2008 กำลังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด หลังจากเจอแรงกดดันจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่เริ่มมีสัญญาณบวกจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (หากดูเป็นราย Sector ส่วนใหญ่ปรับขึ้นยกเว้น กลุ่มประกันชีวิต โดยกลุ่มที่ปรับหลักๆนำโดย กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ชิ้นส่วน ธนาคาร ฯลฯ

- 13 เม.ย. 2020 สถาบัน S&P (ปรับจาก Positive > Stable ) 1 วัน หลังปรับลด Outlook ลง SET index ปรับขึ้น +2.3% โดย Sector ปรับขึ้นเกือบทุก Sector ยกเว้น เพียงกลุ่ม ICT -0.13% โดยกลุ่มที่ปรับขึ้นมากกว่าตลาดคือ กลุ่ม ท่องเที่ยว กลุ่มสื่อ เกษตร กลุ่มธนาคาร ฯลฯ

- 21 เม.ย. 2020 สถาบัน Moody (ปรับจาก Positive > Stable ) 1 วัน หลังปรับลด Outlook ลง SET index ปรับลง -0.34% (หากดูเป็นราย Sector ราว 50 – 50 ปรับขึ้น / ลง โดยกลุ่มที่ปรับลงหลักๆคือ กลุ่มธนาคาร -5.9% (KBANK -12.8% BBL -12%) กลุ่มอสังหา -2.3% กลุ่มสื่อ -2.2% ฯลฯ ส่วนกลุ่มที่ปรับขึ้นหลักๆคือ เกษตร +5%(NER+8.8%, STA+6.6%) กลุ่มสื่อสาร +3.3% (DTAC+7.4% ADVANC +3.8% )

บล.พาย ห่วงต้นทุนการเงินพุ่ง- ต่างชาติชะลอลงทุน

บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า Moody ได้ออกมาปรับลดมุมมอง Credit ไทยจาก Stable เป็น Negative เป็นลบสะท้อนถึง ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ไทยและการคลังของไทยอ่อนแอลงจากมาตรการภาษีนําเข้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ไทย

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยกดดันอยู่ก่อนหน้าจากวิกฤต COVID-19 ทําให้ศักยภาพการฟื้นตัวค่อนข้างจํากัด ผลกระทบที่จะตามมาคือต้นทุนทางการเงินอาจจะสูงขึ้นเพราะในสายตานักลงทุนต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้นเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงรวมไปถึงนักลงทุน ต่างชาติอาจชะลอการลงทุนทั้งทางตรงและตลาดการเงิน

ดร.กอบศักดิ์ แนะจับตา S&P - Fitch ทบทวนเครดิตไทยตามมูดีส์

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถอดรหัส Moody’s เกี่ยวกับประเทศไทย หลังสถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ ปรับลด Outlook ของไทยจาก Stable มาเป็น Negative ว่า มูดี้ส์ ถือเป็นสถาบันแรกจาก 3 Ratings Agencies ใหญ่ของโลก ที่เริ่มนำร่องปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับไทย ในรอบนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่มีนัยยะ เพราะ สำหรับมูดีส์ การลด Negative Outlook เป็นก้าวแรก ที่อาจจะนำไปสู่การลด Rating ลงได้ในอนาคต ถือเป็นการเตือนประเทศไทย

ดังนั้น การประกาศของมูดี้ส์ จะเป็นการกระตุ้นให้อีก 2 สถาบันเครดิตใหญ่ที่เหลือ คือ S&P และ Fitch Ratings เริ่มกลับมาดูข้อมูลโดยละเอียดอีกรอบ และทบทวนว่าจะปรับเปลี่ยนมุมมองของไทยตามหรือไม่

ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนมุมมองหรือ Outlook ของไทย มูดีส์ ชี้แจงว่า มาจาก "risks that Thailand’s economic and fiscal strength will weaken further" ความเสี่ยงที่สถานการณ์เศรษฐกิจและสถานะภาคการคลังของไทยอาจจะอ่อนแอลงไปกว่านี้ ซึ่งมาจากนโยบาย Tariffs ของสหรัฐที่กำลังส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าของโลก ที่จะกระทบต่อมาที่ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาต่างประเทศมาก

นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนว่าหลังจากชะลอไป 90 วัน ไทยและประเทศต่างๆ จะโดนเก็บภาษีนำเข้าเท่าไร ทั้งหมดนี้จะซ้ำเติมปัญหาเดิมที่ไทยมีก่อนหน้าอยู่แล้ว คือการที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ไม่ดีเทียบกับคนอื่นๆ หลังจบปัญหาเรื่องโควิด และปัญหาการลดลงของศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่เราโตช้าลงเรื่อยๆ ที่มูดี้ส์กังวลใจก็คือ ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐในการส่งออก และจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ในการผลิตสินค้าของภูมิภาค หากเศรษฐกิจไทยโตช้าลงกว่านี้อีก จากความปั่นป่วนในเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบไปที่สถานะภาคการคลังที่อ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ช่วงโควิด ให้แย่ลงไปจากเดิมดังนั้น จึงให้มุมมอง Negative กับไทย

แต่ที่น่าสนใจก็คือการปรับลดเป็น Negative ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การลด Rating เสมอไป เป็นการเตือนว่า “จับตามองแล้วนะ” “มีความเสี่ยง”

ในอดีต ช่วงวิกฤตการเงินโลก 2008 ก็เคยลด Outlook ของไทยเป็น Negative แต่เมื่อผ่านช่วงวิกฤตนั้นมาได้ 2 ปีให้หลังก็ปรับมาเป็น Stable อีกครั้ง ดังนั้นในรอบนี้เช่นกัน มูดีส์ บอกว่า Outlook เปลี่ยนได้ถ้าไทยสามารถขยายตัวได้สูงกว่าที่เขาคาดไว้ในใจอย่างต่อเนื่อง ที่จะช่วยให้สถานะการคลังไทยดีขึ้น หมายความว่า ถ้าไทยขาดดุลการคลังได้น้อยลง และเป็นหนี้ภาครัฐต่อ GDP ลดลง จากเศรษฐกิจที่โตต่อเนื่องมีโอกาสจะกลับไปที่ Stable ได้

ขณะเดียวกัน มูดี้ส์ เตือนว่า Negative Outlook รอบนี้ อาจจะตามมาด้วยการลด Rating ในอนาคต ถ้าหาก

(1) เศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงไปกว่านี้ ศักยภาพในการเติบโตลดต่ำไปกว่านี้ จากการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในด้านต่างๆ รวมทั้งจาก ความปั่นป่วนในระบบเศรษฐกิจโลกจากนโยบายสหรัฐ

(2) ภาระหนี้ของภาครัฐไทยยังเพิ่มต่อเนื่องในช่วงต่อไป ทั้งจากปัญหาภายนอกและภายในที่จะเข้ามากระทบทำให้ไทยโตไม่ได้ หรือจากความตึงเครียดขัดแย้งทางการเมืองที่กระทบต่อความสามารถในการดำเนินนโยบายของไทยทั้งหมด

"เป็นการเตือน และแจ้งว่า Moody’s กังวลใจมองอะไรอยู่ และเขาอยากเห็นอะไร" หน้าที่ของไทยคือ เร่งแก้ไข ปรับปรุงตนเองซึ่งคงต้องทำ 3 เรื่อง 

(1) ไม่ทำในสิ่งที่เขากังวลใจ

(2) เตรียมการให้เศรษฐกิจไทยผ่านมรสุมจาก President Trump ไปได้ พยายามลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และ 

(3) มุ่งสร้างอนาคตที่แท้จริง เพราะสิ่งที่มูดี้ส์อยากเห็นจริงๆ คือ ศักยภาพในการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 3-4% เป็นอย่างน้อย ซึ่งหมายความว่า ต้องเร่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสร้างรายได้ที่แท้จริง เพิ่มศักยภาพการวิจัยของไทย แก้ไขกฏหมายที่ล้าสมัยที่เป็นโซ่ถ่วงประเทศ และที่สำคัญสุดคือ แก้ไขเรื่องการพัฒนาคนของไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น