รัฐมนตรีเศรษฐกิจเอลซัลวาดอร์ย้ำเสียงชัด "บิทคอยน์คืออนาคต" แม้จะเซ็นสัญญาเงินกู้กับ IMF แต่รัฐบาลยังเดินหน้าสะสมเหรียญต่อไม่ยั้ง ล่าสุดสอยเพิ่มอีก 7 เหรียญ มูลค่ากว่า 6.5 แสนดอลลาร์ ขณะที่ IMF ออกโรงเตือนอย่าหักหลังข้อตกลง ด้านประธานาธิบดีบูเคเลไม่แคร์ เตรียมปลูกฝังความรู้คริปโตให้เด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นเรียน
เอลซัลวาดอร์ประเทศเล็กแต่ใจใหญ่ ยังคงเขย่าตลาดคริปโตทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศ นางมาเรีย ลุยซา ฮาเยม ออกมาเปิดเผยกลางเวที Rio de Janeiro Web Summit ว่า การสะสมบิทคอยน์ยังคงเป็น “ภารกิจหลัก” ของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล
แม้ประเทศเพิ่งบรรลุข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในโครงการเงินกู้มูลค่ามหาศาลถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์ ที่ใช้เวลากว่า 4 ปีในการเจรจา โดยหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญคือให้เอลซัลวาดอร์ "ลดบทบาทของบิทคอยน์" ลงก็ตาม
แต่เหมือนรัฐมนตรีจะพูดคนละภาษากับ IMF เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานบิทคอยน์ของประเทศได้ออกมาเปิดเผยว่า เอลซัลวาดอร์ได้ซื้อบิทคอยน์เพิ่มอีก 7 เหรียญ รวมมูลค่ากว่า 650,000 ดอลลาร์ ภายในระยะเวลาเพียง 7 วันเท่านั้น โดยไม่มีท่าทีว่าจะชะลอการซื้อแต่อย่างใด
ด้าน IMF โดยนายโรดริโก วัลเดส ผู้อำนวยการฝ่ายซีกโลกตะวันตก ยังพยายามประคองสถานการณ์ โดยออกมาให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่า "โครงการของเอลซัลวาดอร์ไม่ได้เกี่ยวกับ บิทคอยน์" และยังยืนยันว่า ประเทศยังคงปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ให้ไว้ในข้อตกลงเงินกู้
แต่คำพูดและการกระทำของเอลซัลวาดอร์กลับสะท้อนท่าทีตรงกันข้าม เพราะรัฐมนตรีฮาเยมยังเน้นย้ำว่า “เรากำลังสะสมสินทรัพย์ และบิตคอยน์ยังคงเป็นหัวใจหลักของแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของเรา”
ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ไม่ได้หยุดแค่ในตลาดการเงินเท่านั้น กระทรวงศึกษาธิการของประเทศยังได้ประกาศเปิดตัวโครงการ “ความรู้ทางการเงิน” ที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับบิทคอยน์กับนักเรียนในโรงเรียนรัฐ 50 แห่งทั่วเขตลาลิเบอร์ตาด ซึ่งถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เริ่มนำบิทคอยน์มาใช้งานตั้งแต่ต้น และกลายเป็นรากฐานสำคัญของแผนเศรษฐกิจดิจิทัลของชาติ
ทั้งหมดนี้ชี้ชัดว่า รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ภายใต้การนำของบูเคเล ไม่ได้เพียงต้องการใช้บิทคอยน์เป็นแค่สินทรัพย์เก็งกำไร แต่กำลังวางหมากสร้างอธิปไตยทางเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ไม่ต้องพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์หรือระบบการเงินแบบเดิมๆ
อย่างไรก็ดีการเดินเกมเช่นนี้อาจทำให้เอลซัลวาดอร์ต้องเผชิญแรงเสียดทานจากเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับผู้มีอำนาจดั้งเดิมอย่าง IMF แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศนี้กลายเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาสำคัญของโลก ว่าการเป็น “ผู้นำ” แทนที่จะเป็น “ผู้ตาม” บนเวทีเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นให้ผลลัพธ์เช่นไร คงเป็นความท้าทายที่นักลงทุน และประชาคมโลกต่างจับตา