xs
xsm
sm
md
lg

อาร์คันซอลุกเป็นไฟ! เมืองวิโลเนียแห่ต้านเหมืองคริปโต หวั่นมลพิษลามทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประชาชนเมืองวิโลเนียรวมพลังแสดงจุดยืนประท้วงเหมืองขุดคริปโตในพื้นที่ชุมชน : ที่มา media.thv11
ประชาชนเมืองวิโลเนียรวมพลังต้านการขุดคริปโต หวั่นทำลายสิ่งแวดล้อม-ความสงบของชุมชน พร้อมจุดกระแสต้านทั่วสหรัฐ ขณะที่กฎหมายและภาษีศุลกากรใหม่ๆ อาจกระทบอุตสาหกรรมขุดบิทคอยน์สหรัฐฯ อย่างรุนแรง

เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา เมืองวิโลเนีย รัฐอาร์คันซอ ได้ประกาศปฏิเสธแผนสร้างโรงงานขุดสกุลเงินดิจิทัลอย่างเป็นทางการ หลังประชาชนรวมตัวประท้วงเป็นเวลาหลายสัปดาห์ด้วยความกังวลเรื่องเสียงดัง การใช้พลังงานสูง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังปกป้องวิถีชีวิตอันเงียบสงบแบบดั้งเดิมของชุมชน

พลังต้านเหมืองคริปโตผุดขึ้นจากรากหญ้า

โดยก่อนหน้านี้ ทางชุมชนให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเสียงพัดลมระบายความร้อนของเหมืองที่ดังกึกก้องต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้พลังงานในชุมชน กลายเป็นภัยคุกคามที่ประชาชนวิโลเนียไม่อาจเพิกเฉย หนึ่งในชาวเมืองระบุชัดเจนว่า พวกเขาเลือกที่จะตั้งรกรากที่นี่เพื่อ “ความสงบ ไม่ใช่บิทคอยน์”

ทั้งนี้วิโลเนียถือเป็นเมืองที่มั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งในรัฐ อาร์คันซอ ด้วยรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยกว่า 80,000 ดอลลาร์ (ปี 2565) อัตราการถือครองอสังหาฯ ในฐานะเจ้าของบ้านทีมีปริมาณสูง และจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นชุมชนตัวอย่างของความเจริญอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของเมืองซึ่งอยู่ใกล้สถานีย่อย Entergy และมีกำลังไฟฟ้าแบบเผื่อเหลือเพื่อการเติบโตของชุมชนในอนาคต ได้กลายเป็นเป้าหมายของเหล่านักขุดเหมืองบิทคอยน์

วิโลเนีย ยืนกรานปฏิเสธเหมืองขุดบิทคอยน์ หวังอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


การตัดสินใจปัดตกโครงการขุดบิทคอยน์ล่าสุดนี้ เป็นครั้งที่สองหลังจากปี 2565 ที่คณะกรรมการเมืองได้ปฏิเสธใบอนุญาตของบริษัท Vilo AR เช่นกัน สะท้อนถึงท่าทีแข็งกร้าวที่ไม่เปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมขุดคริปโต ไม่ใช่แค่ในเมืองนี้แต่การต่อต้านเหมืองขุดบิทคอยน์กำลังกลายเป็นเทรนด์ที่ขยายวงกว้างทั่วรัฐอาร์คันซอ

ขณะที่สมาชิกรัฐสภาของรัฐเดินหน้าผ่านร่างกฎหมายสองฉบับในปี 2567 เพิ่มข้อจำกัดในการขุด รวมถึงเสนอห้ามตั้งเหมืองในรัศมี 30 ไมล์จากฐานทัพทหาร แม้มาตรการบางส่วนจะยังถูกระงับไว้ก็ตาม

เท็กซัส–เพนซิลเวเนีย–อิลลินอยส์ รับลูก อาร์คันซอ ร่วมวงต่อต้านการขุดคริปโต

ปรากฏการณ์ต่อต้านไม่ได้หยุดอยู่ที่อาร์คันซอ โดยในแกรนเบอรี รัฐเท็กซัส ชาวบ้านได้ยื่นฟ้องบริษัท Marathon Digital ในข้อหาสร้างเสียงรบกวนจากการขุดคริปโตทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ทั้งอาการปวดหัวเรื้อรังและการสูญเสียการได้ยิน

แรงกดดันดังกล่าวนำไปสู่การออกกฎใหม่โดยคณะกรรมการสาธารณูปโภครัฐเท็กซัส (PUCT) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยกำหนดให้ผู้ขุดบิทคอยน์ต้องลงทะเบียนที่ตั้ง กำลังการผลิต และต่ออายุทะเบียนทุกปี

ฝุ่นพิษจากเหมืองบิทคอยน์ลอยข้ามรัฐ – ความจริงที่เลี่ยงไม่พ้น

งานวิจัยล่าสุดในวารสาร Nature Communications เปิดเผยข้อมูลสุดช็อกโดยในรายงานระบุว่าเหมืองบิทคอยน์ในสหรัฐฯ ปล่อยฝุ่น PM2.5 อันตรายกระจายไปทั่ว ทำให้ชาวอเมริกัน 1.9 ล้านคนสัมผัสกับมลพิษระดับสูง

การศึกษาโครงการดังกล่าวทีมนำทีมโดย ดร. ฟรานเชสก้า โดมินิซี่ ที่ได้วิเคราะห์เหมือง 34 แห่ง พบว่าใช้ไฟฟ้ารวม 32.3 เทระวัตต์-ชั่วโมง มากกว่าทั้งเมืองลอสแองเจลิสถึง 33% โดย 85% ของพลังงานนั้นมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

นอกจากนี้ผลพวงที่เกิดจากการขุดบิทคอยน์ยังสร้างฝุ่นพิษแพร่กระจายครอบคลุมจากนิวยอร์กถึงเท็กซัสตะวันออกเฉียงเหนือ และแม้แต่เมืองเมโทรโพลิส รัฐอิลลินอยส์ ก็ยังรับผลกระทบจากโรงงานในรัฐเคนตักกี้

นักวิจัยเสนอให้ EPA บังคับใช้กฎ "เพื่อนบ้านที่ดี" เพื่อสกัดกั้นมลพิษข้ามพรมแดนให้ได้

ภาพแผ่นป้ายการต่อต้านเหมืองขุดบิทคอยน์ของชุมชนเมืองวิโลเนีย รัฐอาร์คันซอ ในสหรัฐ ฯ : ที่มา media.thv11
สู้ศึกในศาล ผลักดันนโยบายระดับชาติจ่อสกัดเหมืองคริปโต

นอกจากเสียงค้านและฝุ่นพิษ ปฏิบัติการในเชิงกฎหมายก็เริ่มต้นแล้ว เดือนมีนาคม 2567 องค์กร Save Carbon County ฟ้องร้องบริษัท Stronghold Digital Mining ฐานละเมิดสิทธิชาวเพนซิลเวเนียในการมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด หลังโรงงานเผาขยะถ่านหินและยางเพื่อผลิตไฟฟ้าขุดบิทคอยน์

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกรายงานเมื่อสิงหาคม 2567 ระบุว่าเหมืองคริปโตใช้ไฟฟ้าโลกถึง 2% พร้อมทั้งเสนอเก็บภาษีไฟฟ้าสำหรับการขุด 85% เพื่อระดมทุนได้ถึงปีละ 5.2 พันล้านดอลลาร์

ศึกใหม่จากศุลกากร – สหรัฐฯ อาจเสียตำแหน่งมหาอำนาจขุดบิทคอยน์

ปัญหาไม่ได้หยุดที่สิ่งแวดล้อม นโยบายศุลกากรของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เป็นอีกด่านอันตราย โดยตั้งแต่ปี 2567 บริษัทเหมืองสหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนแบ่งกำลังขุดโลกกว่า 40% ต้องเผชิญภาษีนำเข้าแท่นขุดสูงถึง 36% สำหรับเครื่องจักรจากไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (แม้ว่าจะมีผ่อนผันภาษี 90 วัน ลดเหลือ 10% ชั่วคราวก็ตาม)

ทั้งนี้หลังประกาศภาษีศุลกากร ดัชนีเหมืองคริปโตร่วง 12% หนักกว่าตลาด S&P 500 ที่ลดลง 8% นักลงทุนเร่งนำเข้าแท่นขุดล่วงหน้า ขณะที่บางบริษัท เช่น Synteq Digital เริ่มมองหาทางออกไปตั้งเหมืองขุดนอกประเทศที่มีอัตราค่าไฟฟ้าถูกลง

อย่างไรก็ตาม Compass Mining บริษัทผู้ประกอบการขุดเหมืองบิทคอยน์รายใหญ่ยังยืนยันขยายธุรกิจในสหรัฐฯ แต่เร่งร้องขอความชัดเจนด้านภาษีอย่างเร่งด่วน เพราะความไม่แน่นอนครั้งนี้เสี่ยงฉุดการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ และอาจสั่นคลอนความเป็นผู้นำด้านการขุดบิทคอยน์ของอเมริกาในเวทีโลก