การรุกตลาดไทยครั้งใหญ่ของ KuCoin เปิดฉากหลังเข้าซื้อ ERX พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น KuCoin Thailand อย่างเป็นทางการ หวังแย่งชิงส่วนแบ่งจาก Bitkub และแพลตฟอร์มเจ้าถิ่นท่ามกลางกฎเข้มของ ก.ล.ต. ไทย ขณะเดียวกัน KuCoin เองก็ยังหลังพิงฝา มีมีดปักหลัง กับปัญหากฎระเบียบในสหรัฐฯ ที่ยังค้างคาต้องแกไข และเดินเกมรุกต่อเนื่องในยุโรป ด้วยการยื่นขอใบอนุญาต MiCA หวังเปิดทางสู่สหภาพยุโรป
เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา KuCoin แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่จากต่างประเทศ ประกาศเปิดตัว "KuCoin Thailand" อย่างเป็นทางการ หลังเข้าซื้อกิจการของบริษัท ERX จำกัด ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายโทเคนดิจิทัลรายแรกของไทยที่ได้รับการกำกับดูแลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
อย่างไรก็ดีการเปิดตัวครั้งนี้ถูกจับตามองทันที เพราะนอกจากจะเป็นการบุกตลาดประเทศไทยอย่างเต็มตัวของ KuCoin แล้ว ยังมีนัยสำคัญต่ออำนาจส่วนแบ่งตลาดการเทรดคริปโตของเจ้าถิ่นเดิมคือ บิทคับ (Bitkub) ซึ่งปัจจุบันครองส่วนแบ่งสูงสุดในประเทศ ด้วยปริมาณการซื้อขายต่อวันสูงถึง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางผู้เล่นรายอื่นที่พยายามเข้ามาแบ่งเค้กอย่าง Gulf Binance, Upbit, WAAN Exchange และกระดานเทรดรายเล็กอีกหลาย ๆ ราย
ขณะที่หลังจากเปิดตัวทาง KuCoin วางเป้าหมายชัดเจนในการเจาะตลาดไทย ด้วยการรีแบรนด์ ERX พร้อมให้คำมั่นว่า KuCoin Thailand จะเป็นแพลตฟอร์มภายใต้ใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ที่มีโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก พร้อมให้บริการผู้ใช้ชาวไทยอย่างมีมาตรฐานสากลและได้รับความไว้วางใจ
อย่างไรก็ตาม KuCoin ต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านกฎระเบียบที่เข้มข้นขึ้นในประเทศไทย นับตั้งแต่รัฐบาลออกมาตรการห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระเงินเมื่อปี 2565 รวมถึงการปราบปรามแพลตฟอร์มซื้อขายแบบเพียร์ทูเพียร์ (P2P) ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากการฟอกเงินและอาชญากรรมไซเบอร์
ซึ่งมาตรการทางกฏหมายที่เข้มงวดขึ้น ก็ทำให้ KuCoin เองก็ไม่ได้รอดพ้นจากแรงสั่นสะเทือนด้านกฎระเบียบระดับโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทถูกตั้งข้อกล่าวหาเรื่องการดำเนินธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาต ส่งผลให้ KuCoin ยอมรับผิดและตกลงจ่ายค่าปรับรวมเกือบ 300 ล้านดอลลาร์ ทั้งในรูปแบบของค่าปรับทางอาญาและการริบทรัพย์สิน
ในช่วงปลายปี 2566 KuCoin ต้องเผชิญอีกหนึ่งวิกฤติ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบธุรกรรมต้องสงสัยหลายพันล้านดอลลาร์ไหลผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งเกี่ยวข้องกับตลาดมืด, การเรียกค่าไถ่ และการฉ้อโกง จนนำไปสู่คำสั่งห้ามดำเนินการในนิวยอร์ก และบริษัทต้องยอมจ่ายเงินอีก 22 ล้านดอลลาร์เพื่อยุติคดี
ผลกระทบจากปัญหานี้ทำให้ผู้ก่อตั้ง KuCoin อย่าง Chun Gan และ Ke Tang ต้องก้าวลงจากตำแหน่ง และบริษัทให้คำมั่นว่าจะยกระดับระบบป้องกันการฟอกเงิน (AML) และการรู้จักลูกค้า (KYC) เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาด
ขณะเดียวกัน KuCoin ไม่ได้หยุดแค่การตั้งหลักในเอเชีย แต่ยังวางแผนรุกตลาดยุโรปอย่างเต็มตัว โดยได้ยื่นขอใบอนุญาต MiCA (Markets in Crypto-Assets) เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) และเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA)
โดยทาง KuCoin ได้ปักหลักเลือกกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เป็นสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของภูมิภาค ซึ่งให้เหตุผลว่า ออสเตรียมีกรอบการกำกับดูแลที่เข้มงวดและมีบุคลากรด้านคริปโตและฟินเทคที่มีศักยภาพ
ขณะที่ BC Wong ผู้บริหารของ KuCoin ระบุว่า “เรามุ่งมั่นที่จะมอบบริการคริปโตที่ปลอดภัย เฉพาะพื้นที่ และราบรื่น ครอบคลุมทั้งสหภาพยุโรป เพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้งานในยุคใหม่”
ทั้งนี้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในเอเชีย สหรัฐฯ และยุโรป KuCoin ยังคงต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมาก โดยเฉพาะในตลาดประเทศไทย ที่บิทคับเป็นกระดานเทรดที่ครองตลาดอยู่ในขณะนี้ การแข่งขันที่เข้มข้นกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริง และผู้บริโภคชาวไทยจะได้เห็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจมากขึ้นในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่หรือเป็นแค่การมาชิมลาง ก่อนที่จะเจ๊งม้วนเสื่อกลับไปเหมือนผู้เล่นอื่นที่เก็บกระเป๋ากลับบ้านไปก่อนหน้านี้