นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (25เม.ย.68)ที่ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.55 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.38-33.49 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 143 เยนต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็เผชิญแรงกดดันบ้าง ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสกลับมาลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าที่เคยประเมินไว้ จากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งระบุว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ หากนโยบายกีดกันทางการค้า กดดันให้การจ้างงานแย่ลง (Christopher Waller) และเฟดก็อาจปรับนโยบายการเงินได้อย่างเร็วสุดในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ หากเฟดมีความมั่นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ (Beth Hammack) โดยการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าว ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ ราคาทองคำทยอยรีบาวด์สูงขึ้น ส่งผลให้เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมีนาคม ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า BOE มีโอกาส 85% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง ในปีนี้
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนเมษายน (Final data) ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เมื่อเทียบรายงาน Preliminary data ที่ออกมาก่อนหน้า ในวันที่ 11 เมษายน ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้ปรับตัวลดลงหนักสู่ระดับ 50.8 จุด จากระดับ 57 จุด ในเดือนมีนาคม
และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ไปก่อนเพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในวันนี้ที่ปัจจัยสำคัญในตลาดการเงินมีไม่มากนัก อย่างไรก็ดี อาจยังคงต้องรอลุ้น รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ ว่าจะออกมาดีกว่าคาด หรือ แย่กว่าคาดชัดเจน เพราะล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของ BOE ไปมากพอสมควร (เกือบ 4 ครั้ง) ทำให้ หากรายงานยอดค้าปลีกของอังกฤษ ปรับตัวดีขึ้นกว่าคาด ก็อาจลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ BOE หนุนให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อาจรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง พร้อมกันนั้น อาจต้องรอลุ้นว่า รายงาน Final data ของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ของสหรัฐฯ จะออกมาแตกต่างจากรายงาน Preliminary อย่างไร โดยหากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวปรับตัวลดลงเพิ่มเติมจากรายงานครั้งก่อน ก็อาจยิ่งสร้างความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจกดดันทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จนหนุนให้ ราคาทองคำพอมีโอกาสทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ส่วนเงินบาทก็มีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อาจจำกัดการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำได้ ซึ่งต้องรอลุ้นว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงออกมาสดใสต่อเนื่องได้หรือไม่ โดยหากราคาทองคำไม่สามารถกลับมาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและยังคงอยู่ในช่วงการพักฐาน เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง ซึ่งจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ อีกทั้ง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็เสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงต่อได้ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ทำให้เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติก็จะเริ่มทยอยเพิ่มสูงขึ้น และอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้
โดยรวมเรายังคงมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกจำกัดแถวโซนแนวต้าน 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ (โซนถัดไปจะอยู่แถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่โซนแนวรับยังคงอยู่แถว 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์