xs
xsm
sm
md
lg

บก.ปอศ. เปิดปฏิบัติการ “Crypto Phantom” ทลายเครือข่ายแลกคริปโตเถื่อน 8 แห่ง เงินสะพัดกว่า 14,000 ล้าน เชื่อมโยงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตำรวจ ปอศ. เปิดปฏิบัติการ “Crypto Phantom” ทลายร้านแลกคริปโตเถื่อน 8 แห่งกลางเมืองใหญ่ เงินหมุนเวียนทะลุ 14,000 ล้าน พบให้บริการเฉพาะชาวจีน–รัสเซีย ต้นทางเงินมาจากธุรกิจผิดกฎหมาย พร้อมพัวพันคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์กว่า 10 คดี โดยทั้งหมดไม่มีใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. เสี่ยงโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

รายงานจากตำรวจ ปอศ. ระบุถึงการแถลงผลปฏิบัติการครั้งใหญ่ “Crypto Phantom เปิดหน้ากากร้านแลกเหรียญเถื่อน” โดยพล.ต.ต.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผบก.ปอศ. ซึ่งเป็นแหล่งฟอกเงินของอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งการอุ้มเรียกค่าไถ่ การปล้น และการฟอกเงิน ผ่านธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล โดยพบว่ามีเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 14,000 ล้านบาท

โดยการสืบสวนของ กก.3 บก.ปอศ. นำไปสู่การขอหมายค้น 8 จุดสำคัญใน กทม., ชลบุรี และภูเก็ต ครอบคลุมบ้านพัก อาคารพาณิชย์ และบริษัทรับแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล พบหลักฐานเป็นคอมพิวเตอร์ สมุดบัญชี โทรศัพท์มือถือ กล้องวงจรปิด และเอกสารการจดทะเบียนบริษัทและภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจคริปโตฯ ซึ่งถูกนำมาแสดงต่อสื่อมวลชน


โดยกลุ่มอาชญากรไซเบอร์กลุ่มนี้เน้นลูกค้าหลักไปที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนและรัสเซีย ส่วนใหญ่เป็นเงินที่ได้จากธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด คอลเซ็นเตอร์ เรียกค่าไถ่ ไปจนถึงเงินที่เกี่ยวข้องกับสงคราม การใช้ร้านแลกเปลี่ยนบังหน้าเหล่านี้ช่วยให้ผู้กระทำผิดหลีกเลี่ยงการตรวจสอบทางการเงินและภาษีได้

ขณะที่ในการตรวจสอบ พบว่าทั้ง 8 ร้านมีธุรกรรมแลกเปลี่ยนมากกว่า 1,000 รายการ ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous Blockchain Wallet) คล้ายบัญชีม้า โดยรับแลกคริปโตและเก็บค่าธรรมเนียม นำเงินที่ได้ไปหมุนเวียนในประเทศ รวมถึงลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตและชลบุรี

นอกจากนี้ยังพบธุรกรรมบางส่วนเชื่อมโยงกับคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีนกว่า 10 คดี เจ้าของร้านส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่มีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติซึ่งเป็นผู้จัดหาเงินทุน ร้านเหล่านี้ไม่รับลูกค้าคนไทย และมีพนักงานเป็นชาวต่างชาติแทบทั้งหมด ป้ายหน้าร้านแสดงชัดเจนว่าให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกจากนี้ในการตรวจค้น ยังพบวัตถุวงกลมคล้ายเหรียญคริปโตเคอเรนซี่จำนวนมากเก็บไว้ในตู้เซฟที่ภูเก็ต อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเป็นเหรียญคำทองจริงหรือวัสดุโลหะมีค่าชนิดใดหรือไม่

เบื้องต้น มีเจ้าของร้านและกรรมการผู้ถือหุ้นรวม 12 ราย อยู่ระหว่างการออกหมายเรียกสอบปากคำ พบอย่างน้อย 5 รายเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.ก.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี และปรับสูงสุด 500,000 บาท

แม้ร้านทั้ง 8 แห่งจะมีใบอนุญาตแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากธนาคารแห่งประเทศไทย แต่กลับไม่มีใบอนุญาตแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องเพียง 33 รายทั่วประเทศ

"ธุรกิจแลกคริปโตที่ไร้ใบอนุญาต คือแหล่งฟอกเงินชั้นดีของอาชญากรรมข้ามชาติ และส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2568 มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายฟอกเงินอีกด้วย" พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิ ฝากเตือนประชาชนและผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นผลจากนโยบายของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ที่สั่งการให้ตำรวจเข้มงวดกับการใช้คริปโตในทางผิดกฎหมาย เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในอาชญากรรมข้ามชาติ และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง