นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(23เม.ย.68) ที่ระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.23 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.75 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.18-33.70 บาทต่อดอลลาร์) หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลงบ้าง จากคำสัมภาษณ์ของทั้งรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังลดความกังวลต่อประเด็นการเมืองเข้าแทรกแซงการทำงานของเฟด หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ระบุว่า ไม่ได้ต้องการที่จะไล่ประธานเฟด Jerome Powell ออกจากตำแหน่ง ซึ่งภาพดังกล่าว ได้หนุนให้บรรยากาศตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย ยอดนิยมในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และทองคำ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเช่นกัน โดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับจังหวะการปรับตัวลงแรงของราคาทองคำ ได้กดดันให้ เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้ง ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนเมษายน
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก (เฟด, BOE และ ECB) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงิน โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า เฟดมีโอกาสราว 28% ที่จะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง ในปีนี้ (ลดลงจากช่วงก่อนหน้าพอสมควร) หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และลดความกังวลต่อประเด็นการเข้าแทรกแซงการทำงานของเฟด โดยฝั่งการเมืองสหรัฐฯ
และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ซึ่งเราประเมินว่า BI จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.75% เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) แต่ก็มีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ในปีนี้ เพื่อประคองเศรษฐกิจจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) และรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าลงเร็วและแรงของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น อาจเริ่มชะลอลงได้บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่าง ฝั่งผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ เรามองว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อาจส่งผลดีต่อทิศทางสินทรัพย์เสี่ยงฝั่งเอเชีย ด้วยเช่นกัน สะท้อนผ่าน การทยอยแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินหยวนจีน ในช่วงเช้านี้ (เงินหยวนจีน ยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาท สูงถึง 80% เมื่อประเมินจาก 30-day correlation) และที่สำคัญ หากราคาทองคำรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง หรือแกว่งตัวในกรอบ Sideways เป็นอย่างน้อย ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท หรือกลับมาหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ หากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทก็ยังมีอยู่ โดยเงินดอลลาร์ยังมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากผู้เล่นในตลาดกลับมามีความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งต้องรอลุ้น รายงานดัชนี S&P PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ในคืนนี้ ว่าจะออกมาดีกว่าคาด หรือ ปรับตัวดีขึ้นจากรายงานครั้งก่อนได้หรือไม่ ส่วนโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีอยู่ และจะทยอยเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัดได้เช่นกัน
เราประเมินว่า โซนแนวต้านใหม่ของเงินบาทอาจขยับมาอยู่แถว 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวรับอาจอยู่ในช่วง 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์