บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) (CGSI) ปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่มน้ำมันและก๊าซของไทย เป็น Underweight สะท้อนความไม่แน่นอนมาตรการภาษีและนโยบายต่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ
แม้ว่าราคาน้ำมันดิบ Brent ในไตรมาส 1/68 ยังคงแข็งแกร่งที่ 75.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เทียบกับประมาณการของฝ่ายวิเคราะห์ฯที่ 72 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากความกังวลด้านอุปทาน เพราะมีการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านและเวเนซุเอลา ในขณะที่ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯอาจน่าผิดหวัง
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้และปรับขึ้นภาษีภายใต้มาตรา 232 น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันลดน้อยลง นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากนโยบายที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและจากผลการเจรจาทางการค้าอาจทำให้มีการชะลอการเพิ่มสต็อกสินค้าโภคภัณฑ์ จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับตลาดน้ำมันโลก นอกเหนือจากมติของ OPEC+ ที่จะเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในเดือนเม.ย.68
ขณะที่ด้านอุปทาน ยุทธวิธีของทรัมป์ในการยกระดับ/ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านและรัสเซียเพื่อทำข้อตกลง น่าจะเห็นผลชัดเจนกว่ามาตรการภาษี เนื่องจากโรงกลั่นของสหรัฐฯยังใช้น้ำมันจากแคนาดาเป็นหลัก ขณะเดียวกัน OPEC+ มีสิทธิระงับการเพิ่มกำลังการผลิตหากราคาน้ำมันลงไปต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ดังนั้น ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI จึงปรับลดประมาณการราคาน้ำมันดิบ Brent ในปี 68 และ 69 เป็น 65.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ 65.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่คาดไว้ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ 68 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า การชะลอตัวของภาคการผลิตและการค้าทั่วโลกน่าจะฉุดให้ความต้องการน้ำมันดีเซลลดลง และการที่สหรัฐ/ สิงคโปร์มีปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสูง ยังเพิ่มแรงกดดันต่อ crack spread ของน้ำมันเบนซินช่วง 6 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัจจัยบวกที่จะช่วยหนุนกลุ่มโรงกลั่นคือการที่น้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมีราคาขายอย่างเป็นทางการ (OSP) ลดลง เนื่องจากโรงกลั่นในเอเชียใช้กำลังการผลิตต่ำและอุปทานเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ โรงกลั่นขนาดเล็กของจีน (teapot refinery) ที่พึ่งพิงน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาและอิหร่าน น่าจะต้อง ปรับลดอัตราการใช้กำลังการผลิตเช่นกัน ดังนั้นการที่ผลกระทบจาก crack spread ที่อ่อนตัว อาจมากกว่าผลดี จากการที่ต้นทุนน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางลดลง จึงทำให้ฝ่ายวิเคราะห์ฯตัดสินใจปรับลดสมมติฐานค่าการกลั่นสิงคโปร์ในปี 68/69 จาก 5.1/6.1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 4.8/5.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
สำหรับตลาด LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว)โลก ฝ่ายวิเคราะห์ฯมองว่าผลกระทบน่าจะไม่รุนแรงเนื่องจากอุปสงค์ในเอเชียและยุโรปค่อนข้างนิ่งมาตั้งแต่ครึ่งหลังปี 67 และประเทศในอาเซียนอาจต้องนำเข้า LNG จากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น เพื่อต่อรองทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะช่วยหนุนราคาก๊าซ Henry Hub ประกอบกับเชื่อว่าจีนจะไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าอีเทนจากสหรัฐฯ เพราะจีนมีการผลิตอีเทนไม่พอกับความต้องการของ Ethane cracker ในประเทศ
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI แนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) กลุ่มน้ำมันและก๊าซของไทย จากเดิมที่ให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) สะท้อนความไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีและนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ ขณะที่การปรับลดสมมติฐาน GRM ทำให้ปรับลดคำแนะนำ PTTGC จาก "ถือ" เป็น "ขาย" และ SPRC จาก "ซื้อ" เป็น "ถือ" โดยยังเลือก PTTEP เป็น Top pick ของกลุ่มนี้ เพราะมีงบดุลและเงินปันผลแข็งแกร่ง และราคาก๊าซยังทรงตัว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้จะมี downside risk หากความต้องการน้ำมันต่ำกว่าคาดและสถานการณ์การค้าโลกตึงเครียดมากขึ้น ส่วน upside risk จะมาจากความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นในตะวันอออกกลาง
* PTT ราคาเป้าหมาย 27.00 บาท คาดว่า PTT จะนำเข้า LNG จากสหรัฐเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนของรัฐบาลที่จะขอเจรจากับสหรัฐ ขณะที่ฐานต้นทุนของ PTT ไม่เพิ่มขึ้นหากค่าขนส่งและค่าธรรมเนียมการจัดการไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
* PTTEP ราคาเป้าหมาย 115.0 บาท คาดว่าปริมาณการขายก๊าซในประเทศของ PTTEP จะไม่ลดลงแม้ว่า PTT จะนาเข้า LNG จากสหรัฐเข้ามาเพิ่มเนื่องจากก๊าซในประเทศน่าจะยังมีราคาถูกกว่า LNG นำเข้า
SPRC ราคาเป้าหมาย 5.25 บาท เราคาดว่า SPRC จะมีค่าการกลั่นลดลงเนื่องจาก crack spread ของทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซินน่าจะลดลงเพราะ GDP โลกขยายตัวลดลง