พอล แอตกินส์ สาบานตนรับตำแหน่งประธาน ก.ล.ต. สหรัฐฯ สะเทือนวงการคริปโต นักลงทุนคริปโตมีลุ้น “กฎใหม่” ที่เป็นมิตรต่อเทคโนโลยีมากขึ้น
พอล แอตกินส์ ได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐฯ (SEC) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติเห็นชอบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 เมษายน โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้เสนอชื่อเขาให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยคาดว่าเขาจะมีพิธีสาบานตนแบบส่วนตัวร่วมกับทรัมป์ในห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) ภายในสัปดาห์นี้
“ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับความไว้วางใจจากประธานาธิบดีและวุฒิสภา ผมตั้งใจจะทำงานร่วมกับทีมงานของ SEC เพื่อส่งเสริมระบบตลาดที่เป็นธรรม โปร่งใส และคุ้มครองนักลงทุน ขณะเดียวกันก็ไม่ปิดกั้นนวัตกรรม” แอตกินส์กล่าวในแถลงการณ์
การแต่งตั้งของเขาถูกจับตามองอย่างหนักจากภาคธุรกิจคริปโต เนื่องจากแอตกินส์มีประวัติสนับสนุนตลาดเสรี และวิจารณ์มาตรการคุมเข้มของ ก.ล.ต. ในยุคก่อน โดยเฉพาะในสมัยของแกรี เกนสเลอร์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าใช้แนวทาง “ปราบ” มากกว่า “กำกับ”
แอตกินส์เคยดำรงตำแหน่งกรรมาธิการ SEC ระหว่างปี 2545-2551 ยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และมีบทบาทผลักดันแนวทางกำกับแบบไม่แทรกแซงมากเกินไป ทำให้เขาได้รับการยกย่องจากแวดวงธุรกิจว่าเป็น “ผู้สนับสนุนตลาดทุนตัวจริง”
ความน่าสนใจอีกประการคือ เขาถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่าสูง โดยในการเปิดเผยทรัพย์สินเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่าเขามีการลงทุนในหุ้นของบริษัท Anchorage Digital, แพลตฟอร์มโทเค็น Securitize และกองทุนคริปโต Off the Chain Capital คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 6 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังพบว่าสินทรัพย์ของครอบครัวอาจรวมแล้วมากกว่า 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ปรึกษาและธุรกิจของภรรยา
ขณะที่ภาคคริปโตมองว่า แอตกินส์ไม่เพียงเข้าใจโลกดิจิทัล แต่ยังมีผลประโยชน์ร่วมในภาคนี้อย่างลึกซึ้ง อันอาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องการนิยามโทเค็น การดูแลทรัพย์สินดิจิทัล และการเปิดพื้นที่ให้สตาร์ทอัปเติบโต
แม้จะมีเสียงวิจารณ์ถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ แต่อุตสาหกรรมคริปโตจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกมีความหวัง พวกเขาเรียกร้องให้เกิด “กรอบกฎที่ชัดเจน โปร่งใส และไม่ขัดขวางนวัตกรรม” ซึ่งอาจเป็นจริงได้ภายใต้การนำของแอตกินส์
การแต่งตั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ กำลังถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนเรื่องทิศทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ฝ่ายหนึ่งมุ่งคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่อีกฝ่ายเน้นส่งเสริมนวัตกรรม เท่ากับว่าแอตกินส์อาจกลายเป็นตัวแปรสำคัญในสมรภูมินโยบายที่ยังไร้ข้อยุติ
“เรามองว่าเขาเป็นผู้มากประสบการณ์ และเราหวังว่าเขาจะร่วมงานกับเราเพื่อขับเคลื่อนภารกิจในนามของสาธารณชนผู้ลงทุน” แถลงการณ์จากคณะกรรมาธิการ SEC ระบุ
ในขณะที่แนวทางปฏิรูปของทรัมป์มุ่งลดกฎเกณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง การเลือกแอตกินส์จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่คือการวางหมากในเกมยุทธศาสตร์ใหญ่ระดับชาติ
หากแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อไป วงการคริปโตอาจเข้าสู่ยุคใหม่ที่ความคลุมเครือทางกฎหมายค่อยๆ จางหาย พร้อมเปิดพื้นที่ให้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีความชัดเจนด้านสิทธิเสรีและสร้างสรรค์มากขึ้น