ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum เสนอแนวทางใหม่เปลี่ยนกลไกหลักของระบบจาก Ethereum Virtual Machine (EVM) สู่ RISC-V เพื่อให้ระบบทำงานง่ายขึ้นและเร็วขึ้น โดยยังคงรองรับภาษา Solidity และ Vyper เพื่อไม่ให้กระทบต่อการพัฒนาสัญญาอัจฉริยะเดิม ด้านชุมชนเริ่มถกเถียงถึงผลกระทบในระยะยาวต่อทิศทางของเครือข่ายทั้งปัญหาคอขวดของระบบ และการเติบโตที่ล่าช้า
ไวทาลิก บูเทอริน ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum เสนอแนวคิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแกนหลักของ Ethereum โดยเสนอให้ยกเลิกการใช้ Ethereum Virtual Machine (EVM) ซึ่งเป็นเครื่องยนต์การประมวลผลหลักของระบบในปัจจุบัน และแทนที่ด้วยสถาปัตยกรรมแบบ RISC-V ซึ่งเป็นชุดคำสั่งมาตรฐานที่ออกแบบให้มีความเรียบง่ายและสามารถขยายต่อได้
ข้อเสนอดังกล่าวถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 เมษายน บนฟอรั่ม Ethereum Magicians โดยบูเทอริน เสนอแผนเป็นขั้นตอนหลายระยะ เพื่อค่อย ๆ ลดความซับซ้อนของระบบโดยไม่กระทบต่อการทำงานของบัญชี พื้นที่จัดเก็บ และการเรียกข้อมูลระหว่างสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่เป็นหัวใจของ Ethereum
แม้จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการขับเคลื่อนแต่ผู้พัฒนายังสามารถเขียนโค้ดด้วยภาษา Solidity และ Vyper ได้เช่นเดิม โดยระบบใหม่จะสามารถคอมไพล์ให้ทำงานร่วมกับ RISC-V ได้อย่างราบรื่น
บูเทอริน ชี้ว่า แม้ Rust จะเป็นภาษาที่แข็งแกร่ง แต่ด้วยความคุ้นเคยของนักพัฒนากับ Solidity และ Vyper และความยากในการอ่านของ Rust ทำให้ยังไม่มีแผนจะเปลี่ยนภาษาในระดับแอปพลิเคชัน โดยยืนยันว่าระบบใหม่จะสามารถทำงานร่วมกับสัญญาอัจฉริยะ EVM เดิมได้อย่างสมบูรณ์
ปัญหาคอขวดของ Ethereum และเป้าหมายการปรับปรุง
บูเทอริน ระบุว่าหนึ่งในคอขวดหลักที่ Ethereum ยังไม่สามารถปลดล็อกได้คือประสิทธิภาพในการดำเนินการคำสั่ง ซึ่งจำกัดขอบเขตการขยายตัวในระยะยาว โดยเฉพาะในระบบพิสูจน์ความถูกต้องแบบ ZK-EVM ซึ่งปัจจุบันใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการประมวลผลบล็อกเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของรอบการพิสูจน์ทั้งหมด
แม้จะมีความพยายามลดภาระด้วยการเปลี่ยนจาก Patricia Tree มาเป็น Binary Tree และใช้ฟังก์ชันแฮชแบบ Poseidon เพื่อจัดการสถานะได้เร็วขึ้น แต่ตราบใดที่ยังใช้ EVM ประสิทธิภาพก็ยังถูกจำกัด
นอกจากนี้ บูเทอริน ยังชี้ว่า ZK-EVM ปัจจุบันก็คอมไพล์เป็น RISC-V อยู่แล้ว ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้ RISC-V โดยตรงในระดับเครื่องจักรกล (VM) จะช่วยลดชั้นของการตีความและเปิดโอกาสให้ระบบประมวลผลได้เร็วขึ้นอย่างมหาศาล อย่างไรก็ดีมีรายงานว่าบางกรณีเร็วขึ้นถึง 100 เท่า
แนวทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยมีการเสนอสามแนวทางในการเปลี่ยนผ่าน ได้แก่
1. แบบอนุรักษ์นิยม – ให้ EVM และ RISC-V อยู่ร่วมกัน โดยให้ทั้งสองสามารถเรียกข้อมูลและเข้าถึงสถานะร่วมกันได้
2. แบบเด็ดขาด – แปลงสัญญา EVM เดิมให้กลายเป็นตัวแทน (Wrapper) ที่สั่งงานผ่าน Interpreter RISC-V
3. แบบกลาง – รองรับ Interpreter VM เป็นมาตรฐานของโปรโตคอล ทำให้สามารถมีหลาย VM อยู่ร่วมกันในอนาคต เช่น Move
ทุกแนวทางมีเป้าหมายเดียวกัน คือการลดความซับซ้อนของ Ethereum โดยไม่ทิ้งมรดกเก่าที่สร้างเครือข่ายนี้ขึ้นมา
การออกแบบและการจัดแนวระบบในอนาคต
ข้อเสนอนี้สอดคล้องกับ Beam Chain ซึ่งเป็นความพยายามปรับระบบ Ethereum ให้เป็นแบบโมดูลาร์และง่ายต่อการบำรุงรักษา โดยหวังให้เครือข่ายสามารถพัฒนาได้ในระยะยาวทั้งในด้านฉันทามติและการประมวลผล
แม้จะไม่มีกรอบเวลาชัดเจนสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ แต่บูเทอรินยอมรับว่า “ถึงเวลาแล้ว” ที่ Ethereum จะต้องคิดในระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อก้าวต่อไปในอนาคต
เสียงสะท้อนจากชุมชนนักพัฒนา-นักลงทุนคริปโต
ข้อเสนอดังกล่าวเรียกเสียงวิพากษ์จากหลายฝั่ง Adam Cochran นักวิเคราะห์สายคริปโตชื่อดัง เตือนว่าการเร่งพัฒนาประสิทธิภาพของ L1 โดยไม่สนใจ L2 อาจสวนทางกับแผนการโมดูลาร์ของ Ethereum และแนะนำให้เน้นที่เทคโนโลยีเช่น recursive proofs, BLS signatures แทน
ขณะเดียวกัน นักพัฒนาอย่าง Ben A Adams และ levs57 ได้ตั้งข้อสังเกตถึงข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์ของ RISC-V รวมถึงความยุ่งยากในการทำให้ระบบ ZK บน RISC-V มีความสมบูรณ์เพียงพอที่จะรองรับสเกลระดับ Ethereum
ทั้งนี้ ไวทาลิก บูเทอริน ตอบโต้ข้อกังวลเหล่านี้โดยอธิบายว่า EVM ที่ใช้คำ 256 บิตนั้นเป็นข้อจำกัดสำคัญ และในทางปฏิบัติค่าเหล่านั้นมักเล็กกว่า จึงสามารถแปลงเป็นคำสั่ง RISC-V ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เขาย้ำว่า การเปิดเผย RISC-V ให้เป็น VM หลัก จะช่วยกำจัดเลเยอร์ซ้ำซ้อน และลดโอเวอร์เฮดจากการตีความ ซึ่งจะทำให้ระบบ Ethereum มีแกนกลางที่เบาและคล่องตัวกว่าเดิม
ทั้งนี้ แม้จะยังอยู่ในขั้นตอนของการเปิดรับความคิดเห็น แต่ข้อเสนอของ บูเทอริน ได้เปิดฉากการถกเถียงใหม่ในระดับแก่นแท้ของ Ethereum ที่อาจส่งผลระยะยาวต่อทั้งนักพัฒนา นักลงทุน และระบบนิเวศของ Web3 โดยรวมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต