นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai รับ บมจ. บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "BKA" ในวันที่ 22 เมษายน 2568
BKA ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ บริการปรับปรุงบ้านมือสองเพื่อขาย (ธุรกิจบ้านแต่ง) เป็นนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หรือรับฝากขายบ้านมือสอง (ธุรกิจบ้านฝาก) และซื้อบ้านมือสองมาปรับปรุงเพื่อขาย (ธุรกิจบ้านตัด) โดยมุ่งเน้นบ้านมือสอง ทั้งประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ และทาวน์โฮม บริษัทดำเนินธุรกิจบ้านแต่งเป็นหลัก โดยรับฝากขายและปรับปรุงให้มีสภาพใหม่พร้อมอยู่อาศัย มีการออกแบบที่สวยงาม มีคุณภาพ พร้อมรับประกันผลงาน บริษัทมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ณ งวดปี 2567 มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบ้านแต่ง : ธุรกิจบ้านฝาก : ธุรกิจบ้านตัด คิดเป็นร้อยละ 77 : 1 : 22 ตามลำดับ โดยปี 2567 บริษัทขายบ้านได้รวม 254 หลัง แบ่งเป็น บ้านแต่ง บ้านฝาก และบ้านตัดได้ที่ขายได้จำนวน 150 หลัง 71 หลัง และ 33 หลัง ตามลำดับ
BKA มีทุนชำระแล้วหลัง IPO 105 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 150 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 60 ล้านหุ้น เสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 45 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของบริษัทไม่เกิน 9 ล้านหุ้น กรรมการ และผู้บริหารของบริษัทไม่เกิน 6 ล้านหุ้น โดยเสนอขายผู้ลงทุนทุกประเภทระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2568 ในราคาหุ้นละ 1.80 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 108 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 378 ล้านบาท
ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ประมาณ 10 เท่า คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลประกอบการปี 2567 ซึ่งเท่ากับ 36.82 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.18 บาท โดยมีบริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ
นายพชร ธนวงศ์เกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BKA เปิดเผยว่า บริษัทยังไม่มีคู่แข่งรายใหญ่ในตลาด เนื่องจากธุรกิจนี้ต้องใช้ความชำนาญขั้นสูงในการปรับปรุงบ้านเก่าที่ทำได้ยากกว่าสร้างบ้านใหม่ บริษัทมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการปรับปรุงและตกแต่งบ้าน มีช่องทางการเสนอขายบ้านผ่านสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ และจัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย รวมถึงสามารถให้คำแนะนำในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ดูแลการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน และมีใบรับประกันหลังการขาย สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อต่อยอดธุรกิจให้บริการปรับปรุงบ้านมือสอง และพัฒนาธุรกิจ "Property Technology" ซึ่งเป็น Platform ตัวกลางในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
BKA มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือ ครอบครัวธนวงศ์เกษม ถือหุ้น 43.57% นายภัคพล เพ็ชร์แย้ม ถือหุ้น 18.57% และนางสาวจรินทร์ อุณหะกะ ถือหุ้น 5.18% โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินของบริษัทฯ หลังหักเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และในข้อบังคับของบริษัท
บริษัทเชื่อมั่นว่าการเข้าซื้อขายในวันพรุ่งนี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจากพื้นฐานทางธุรกิจของ BKA เป็นผู้นำธุรกิจบริการซื้อ-ขายบ้านมือสองตกแต่งใหม่ ที่มุ่งให้บริการปรับปรุงบ้านมือสองเพื่อขาย ในรูปแบบธุรกิจบ้านแต่ง (Flipping) ธุรกิจนายหน้าซื้อ-ขาย อสังหาริมทรัพย์ (ธุรกิจบ้านฝาก) และธุรกิจซื้อบ้านมือสองมาปรับปรุงเพื่อขาย (ธุรกิจบ้านตัด) ที่ได้การยอมรับจากกลุ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ก้าวสู่ "การเป็นที่หนึ่งเรื่องบ้านมือสอง"
อีกทั้งฐานะการเงินและกระแสเงินสดแข็งแกร่ง และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ณ สิ้นปี 2567อยู่ที่ระดับ 1.15 เท่า ประกอบกับเงินทุนที่ได้รับจากการระดมทุนครั้งนี้ ยิ่งทำให้บริษัทมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง และพร้อมต่อยอดเพื่อขยายพอร์ตการให้บริการบ้านแต่ง (Flipping) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบ้านมือสองที่มีศักยภาพการเติบโตจากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) มีทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ในระบบจำนวนมากซึ่งคุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึงการพัฒนาธุรกิจ Property Technology (Prop Tech) โดยสร้าง Platform ตัวกลางในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาข้อมูลให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน และเทคโนโลยีระบบเสมือนจริง (Virtual Reality) มาใช้ในการแนะนำบ้านให้กับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านได้เห็นภาพบ้านเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ ยิ่งสร้างโอกาสการเติบโตให้กับบริษัทในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ
"พร้อมกันนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ทางผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ก่อตั้งบริษัทพร้อมใจกัน Lock-Up ตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมกัน 87% ของทุนชำระแล้วก่อน IPO หรือคิดเป็น 62.14% ของทุนชำระแล้วหลัง IPO เพื่อเป็นการยืนยันว่าวันที่หุ้นเข้าซื้อขายในกระดานเทรดวันแรกจะไม่มีการเทขายจากกลุ่มนี้ออกมาอย่างแน่นอน"
นางนิสาภรณ์ ฤกษ์อร่าม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า หุ้น BKA จะเป็นหุ้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกว่า 12 ปีและด้วยจุดเด่นของ BKA ที่ดำเนินธุรกิจให้บริการซื้อ-ขายบ้านมือสองตกแต่งใหม่ ซึ่งถือเป็นรายแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะในธุรกิจให้บริการบ้านแต่ง (Flipping) ที่สามารถสร้างผลตอบแทนสูง จึงทำให้หุ้น BKA ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดีตลอดช่วงระยะเวลาที่มีการเสนอขายหุ้น IPO ในช่วงที่ผ่านมา
ประกอบกับตัวเลขผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2565 ? 2567) สะท้อนถึงรายได้รวม และกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น จากปี 2565 มีรายได้รวม 1,302.92 ล้านบาท กำไรสุทธิ 21.44 ล้านบาท, ปี 2566 มีรายได้รวม 1,313.59 ล้านบาท กำไรสุทธิ 22.27 ล้านบาท และ ปี 2567 มีรายได้รวม 1,142.46 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 36.82 ล้านบาท ดังนั้นจึงมองว่าหุ้น BKA จะเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่สร้างโอกาสการเติบโตเพิ่มขึ้น และมองว่า BKA เป็นหุ้น Growth Stock ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมกับการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ให้กับผู้ถือหุ้นในอนาคต
นางสาวออมสิน ศิริ ประธานกรรมการบริหาร บล. บียอนด์ ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ของ บมจ.บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป (BKA) เปิดเผยว่า หุ้น BKA เป็นหุ้น IPO ที่มีศักยภาพโดดเด่น มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะทรงตัวแต่ตัวเลขยอดขายบ้านมือสองมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทุกปี สอดคล้องกับดีมานด์บ้านแนวราบที่เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะบ้านในระดับราคา 5-7 ล้านบาท และจากปัจจัยดังกล่าวจึงได้การตอบรับที่ดีจากนักลงทุนผ่านการจองซื้อหุ้นในช่วงที่ผ่านมา
และที่สำคัญ Business Model ธุรกิจของ BKA ถือเป็นรายแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากธุรกิจของ BKA ไม่ใช่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง แต่เป็นธุรกิจการให้บริการปรับปรุงบ้านมือสองเพื่อขาย "ธุรกิจบ้านแต่ง" หรือ "Flipping" ซึ่งรูปแบบธุรกิจเป็นการวางเงินประกัน เพื่อปรับปรุง และขายบ้าน โดยไม่ต้องลงทุนซื้อบ้านทั้งหลัง ทำให้บริษัทมีส่วนต่างของผลตอบแทน และมาร์จิ้นสูง เมื่อเทียบกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องลงทุนตั้งแต่การซื้อที่ดินและก่อสร้าง ดังนั้นด้วยศักยภาพและจุดเด่นจึงทำให้หุ้นน้องใหม่ BKA จึงได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุน