xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนเร่งส่งออกเพิ่มกำลังผลิตก่อนเส้นตาย 90 วัน "อนุสรณ์"จี้ รบ.เร่งเคลียร์จีนสวมสิทธิส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปริมาณและมูลค่าการค้าโลกปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวติดลบจากสงครามกำแพงภาษีนำเข้าการหดตัวของมูลค่าการค้าโลกในปีนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษีตอบโต้ทางการค้ามากที่สุด หากไม่มีสงครามการค้าในปีนี้ มูลค่าการค้าโลกจะขยายตัวได้ 2.7% ตามการคาดการณ์ขององค์การค้าโลก

อย่างไรก็ตามตัวเลขการขยายของภาคส่งออกไทยในไตรมาสสองจะขยายตัวเป็นบวกจากการเร่งการส่งออกก่อนมาตรการภาษีตอบโต้จะมีผลในอีก 90 วันข้างหน้า การเร่งส่งออกในช่วงนี้ทำให้มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่ม โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ข้าว มีออเดอร์เพิ่ม 2-3 เท่า สินค้าส่งออกไทยส่วนหนึ่งจะไปทดแทนสินค้าจีนที่โดนภาษีในอัตราสูงถึง 145% อย่างไรก็ตาม การขยายกำลังการผลิตของโรงงานบางส่วนอาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ ขณะเดียวกันสินค้าส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าเงินบาทในช่วงนี้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาด้อยลง ประกอบกับ ผู้นำเข้าสหรัฐฯกดราคารับซื้อสินค้าไทยจากความไม่แน่นอนของภาษีนำเข้า และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็ว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เรือสินค้าเดินทางจากไทยไปท่าเรือชายฝั่งตะวันออกสหรัฐฯใช้เวลาเดินทาง 35-40 วัน ฉะนั้นผู้ประกอบการส่งออกไทยที่ไม่ต้องการถูกเก็บภาษี 10%ต้องเอาสินค้าขึ้นเรือโดยเร็วและสินค้าต้องถึงสหรัฐฯก่อน 27 พฤษภาคม แม้นสินค้าจะยังไม่โดนกำแพงภาษีแต่จะเผชิญกับการถูกกดราคาจากผู้นำเข้าในสหรัฐฯอย่างแน่นอน

อีกทั้งข้อมูลสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องรู้ก่อนไปเจรจาต่อรองทางการค้ากับสหรัฐฯ คือยอดตัวเลขส่งออกของไทยที่จีนสวมสิทธิส่งออกไปสหรัฐฯเป็นเท่าไหร่กันแน่??? การไม่มีข้อมูลแน่ชัดเรื่องการสวมสิทธิของจีนในภาคส่งออกไทยย่อมเสียเปรียบในการเจรจากับสหรัฐฯ และการสวมสิทธิเหล่านี้ไม่น่าจะน้อย ดูจากมูลค่าส่งออกที่เพิ่มสูงมากในช่วงที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับตัวเลขการผลิตเพื่อการส่งออก เท่ากับว่าการส่งออกจากไทยบางส่วนเป็นเพียงทางผ่านของสินค้าจีนเท่านั้น

ส่วนข้อเรียกร้องของสหรัฐฯให้ไทยเปิดเสรีภาคการเงินและประกันภัย ภาคโทรคมนาคมและภาคบริการอื่นๆเพิ่มเติมนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้ใช้บริการชาวไทย รัฐบาลไทยควรตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวและนำไปประเด็นในการต่อรองกับสหรัฐฯได้การเปิดเสรีภาคบริการจะทำให้อำนาจผูกขาดในธุรกิจอุตสาหกรรมเหล่านี้ลดลงในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพิ่มการแข่งขัน ค่าบริการถูกลงและประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทย ณ ขณะนี้ การเปิดเสรีจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆและอาจไม่ใช่ประเด็นที่รัฐไทยจะนำไปต่อรองกับกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯก็ได้

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ รัฐบาลทรัมป์ประกาศจะเก็บค่าธรรมเนียมเรือสินค้าของจีน การเก็บค่าธรรมเนียมอาจกระทบกับสินค้าไทยที่ใช้บริการเรือของจีนในการขนส่งสินค้า ขณะที่เพิ่มโอกาสอุตสาหกรรมต่อเรือในสหรัฐฯและธุรกิจเดินเรือของชาติอื่นในเอเชีย ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐ-จีน การย้ายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกจะเกิดขึ้น ไทยต้องช่วงชิงโอกาสจากการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่นี้เช่นเดียวที่เคยมีการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่หลังข้อตกลง Plaza Accord ระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น

การตอบโต้กำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ระดับ 125% ต่อ 145% ย่อมทำให้การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯอาจหยุดชะงักลงได้ สร้างผลเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและทั่วโลก เงินเฟ้อและค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นจึงเริ่มมีการส่งสัญญาณจากสหรัฐฯในการหยุดเพิ่มกำแพงภาษีเพิ่มเติม มีความเป็นไปได้มากขึ้นในการทบทวนการปรับขึ้นกำแพงภาษีต่อจีน หากไทยวางตัวเหมาะในสมรภูมินี้และสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่แข็งแกร่ง จะสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสดึงดูดทั้งเงินทุน เทคโนโลยี และบุคลากรเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมนวัตกรรมให้ก้าวหน้าได้โดยเฉพาะการมียุทธศาสตร์และแผนงานชัดเจนในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีความรู้ความสามารถที่อาจย้ายออกนอกสหรัฐฯอย่างน้อยในช่วงสี่ปีที่รัฐบาลทรัมป์บริหารประเทศแบบไม่เป็นมิตรต่อชาวต่างชาติมากนัก และยังมีสไตล์การบริหารประเทศแบบอำนาจนิยม

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า สงครามกำแพงภาษีทำเทคโนโลยีเกิดใหม่ชะงัก นวัตกรรมและเทคโนโลยีแบ่งออกเป็นสองค่ายชัดเจนแทนที่จะหลอมรวมกันเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ ภาวะดังกล่าวจะกระทบสตาร์ทอัพและกองทุนร่วมเสี่ยง VC รุนแรง ความผันผวนนี้ผลักดันให้กองทุนร่วมเสี่ยง VC ต้องกระจายความเสี่ยงออกจาก จีน และ สหรัฐฯ มากขึ้น

หากอาเซียนสามารถวางยุทธศาสตร์และนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ดีพอและสร้างระบบนิเวศ (ecosystem)ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ก็จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินและความร่วมมือจากทั้งจีนและสหรัฐฯได้สร้างโอกาสมหาศาลให้กับสตาร์ทอัพ (startups) และ VC ในภูมิภาคได้เช่นเดียวกัน

ความพยายาม Re-shoring อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ของสหรัฐฯพร้อมกับการทุ่มลงทุนมหาศาลในเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนนโยบายฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตดั้งเดิมในเขตพื้นที่ตอนกลางของประเทศอาจทำให้เม็ดเงินไหลเข้าสหรัฐฯ และลดโอกาสของกองทุนร่วมเสี่ยง VC ในการลงทุนสตาร์ทอัพ ในไทย สตาร์ทอัพในไทยและอาเซียนต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและปัญหาการระดมทุนอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น