xs
xsm
sm
md
lg

มองขาด BCP ไร้เจ้าของ “อัลฟ่าฯ” รุกถกบอร์ด พ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี” ผู้ถือหุ้นใหญ่บางจากมองขาด BCP ใหญ่แต่ไร้เจ้าของ เตรียมเข้าพบคณะกรรมการบอร์ดขอเก้าอี้บริหาร หวังการ Synergy ขยายโอกาสและธุรกิจ ด้านผู้บริหารพร้อมเปิดประตูต้อนรับ เพื่อกำหนดทิศทางธุรกิจ หลังการทยอยเก็บหุ้นช่วยพยุงราคาหุ้นสวนทาง Set Index คาดพฤษภาคมนี้ชัดเจน

ในที่สุด ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ก็ได้ฤกษ์เปิดตัว เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยแบบรายงานการได้มาหุ้น BCP ของ บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 68 ในสัดส่วน 6.1335% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ โดยจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มา คิดเป็น 20.0083% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ส่งผลให้เป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งของ BCP ในปัจจุบัน

การสะสมหุ้น BCP ของ “อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี” นั้น ปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า ดำเนินการผ่าน Capital Asia Investment Pte.Ltd โดยบล.อินโนเวสท์ เอกซ์ และ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น ซึ่งมีการเข้าเก็บหุ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ 19 มี.ค.68 และ 31 มี.ค.68

 ขณะที่แวดวงตลาดหุ้นไทย มีการเฝ้าจับตาการเก็บหุ้น BCP มาตั้งแต่ในช่วงที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงหนักในช่วงต้นปี นั่นเพราะการเคลื่อนไหวของBCP กลับสวนทางตลาดโดยรวม เพราะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งความเคลื่อนไหวทางด้านกระดานหุ้น Biglot ก็มีสัญญาณแปลกๆ เมื่อ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง มีการปล่อยหุ้นBCP ออกและรับเข้าเก็บไว้เองอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงการเข้ามาทยอยเก็บหุ้น BCP ของกองทุนจากสิงคโปร์อย่าง Capital Asia Investments Pte Ltd ที่มีมาอย่างเรื่อยๆ

จนมีการจับสังเกตว่า การปล่อยหุ้น BCP เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ขายออกพยายามทยอยปล่อยออกมาในสัดส่วนที่ละน้อยๆหรือคิดเป็นมูลค่าแค่หลักร้อยล้านบาท แต่เป็นการทยอยปล่อยออกมาให้เข้าไปรับจน Capital Asia กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 1 ใน 3 ของบริษัท เพียงแต่ในช่วงเวลานั้นการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของBCP ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีการอัพเดตที่แน่ชัด

 “อัลฟ่า” ชาร์เตอร์ดคือใคร?

สำหรับ อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี (Alpha Chartered Energy Co., Ltd.) จดทะเบียนในประเทศไทย ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์หลักในการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด โดยโครงสร้างการถือหุ้นมี บริษัท อัลฟ่า โกลบอล จำกัด (Alpha Global Co., Ltd.) ถือหุ้น 51% และ บริษัท อังกอร์ อิสชูแอนซ์ เอส เอ (Encore Issuances S.A.) จากประเทศลักเซมเบิร์ก ถือหุ้น 49%

โดย อัลฟ่า โกลบอล นั้น ผู้ถือหุ้นทั้งหมดคือ นายณัฐกร อธิธนาวานิช ซึ่งเป็นกรรมการของ อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี นอกจากนี้นาย ณัฐกร ยังเป็นกรรมการ ใน บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC)อีกด้วย

ส่วน บริษัท อังกอร์ อิสชูแอนซ์ เอส เอ เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัท Chartered Group โดย Chartered Group เป็นบริษัท Private Equity ระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุน และมีความสนใจในการร่วมลงทุนในบริษัทไทยชั้นนำ

มีรายงานว่าปัจจุบัน Chartered Group มีมูลค่าเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการ (Assets Under Management) กว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 400,000-500,000 ล้านบาท ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ไลฟ์สไตล์ รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ใน 8 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ เยอรมนี ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิสราเอล ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และไทย

ล่าสุด ผู้บริหารอัลฟ่า ชาร์เตอร์ดฯ ได้อธิบายสาเหตุในการเข้าลงทุน BCP ว่า การลงทุนใน BCP นั้นเป็นเรื่องของโอกาส อีกทั้งที่ผ่านมาส่วนตัวเคยทำดีลให้ IRPC มาก่อนจึงมีความรู้ความเข้าใจในด้านธุรกิจพลังงาน ขณะที่ Charted Group มีความสนใจในการลงทุนธุรกิจในประเทศไทย จึงได้มีการเสนอการลงทุนในธุรกิจพลังงาน 

โดยมองว่า BCP นั้นเป็นองค์กรใหญ่และมีศักยภาพรอบด้าน อีกทั้งยังมีโอกาสในการต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้อีกมากในอนาคต เพียงแต่จังหวะในการเข้าลงทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายังไม่ลงตัว จนกระทั่งราคาหุ้นปรับตัวลงมาอยู่ในจุดที่สมเหตุสม จึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน และนั่นจะทำให้หลังจากนี้บางจากฯ จะมี Synergy เข้ามาเสริม รวมถึงโอกาสในการลงทุนจะไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศ แต่จะไปไกลถึงต่างประเทศได้ด้วยในอนาคต

ส่วนการเข้าซื้อหุ้น BCP นั้นโดยรวมใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกทุนจดทะเบียน บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด จำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใส่เงินตามสัดส่วนการลงทุน บริษัท อัลฟ่า โกลบอล จำกัด ถือหุ้น 51% ใส่เงิน 25.5 ล้านบาท และ อังกอร์ อิสชูแอนซ์ เอส เอ ถือหุ้น 49% ใส่เงิน 24.5 ล้านบาท ส่วนที่ 2 เงินในการเข้าซื้อหุ้น BCP จำนวน 9,950 ล้านบาท เป็นเงินกู้จากทาง Encore Issuances S.A. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัท Chartered Group

 เตรียมยื่นขอ 2 เก้าอี้บอร์ด

สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ หลังจากที่ “อัลฟ่า ชาร์เตอร์ดฯ” ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ BCP แล้ว จะมีการเข้าไปเจรจากับคณะกรรมการบริษัท BCP จากนั้นในเบื้องต้นจะส่งกรรมการเข้าไปนั่งตามสิทธิ์จำนวน 2 คน เพื่อกำหนดทิศทางของบริษัท ได้แก่ นายณัฐกร อธิธนาวานิช ส่วนอีกคน คือ Mr.Tomas Koch ซึ่งเคยทำงานที่ McKinsey & Company ด้านพลังงานมามากกว่า 20 ปี ทำให้คาดว่าจะได้เห็นรายชื่อบอร์ดใหม่ของ BCP ประมาณ พ.ค.นี้

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ จากการเข้าลงทุนใน BCP ของ “อัลฟ่า ชาร์เตอร์ดฯ” คือ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ของ BCP นั้นมองขาดในเรื่องสถานะของบริษัท เพราะไม่เพียงแค่สถานะปัจจุบันที่หุ้นพลังงานเทรดต่ำกว่าบุ๊ก แต่ยังเห็นว่า BCP นั้นเป็นบริษัทที่ไม่มีเจ้าของชัดเจนเหมือนบริษัทมหาชนทั่วไป ทั้งที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่

ดังนั้น การที่ “อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี” เข้าไปถือหุ้นอันดับ 1 จะทำให้ BCP กลายเป็นองค์กรที่มีเจ้าของและมีคนดูแลผลประโยชน์ชัดเจน การบริหารงานในอนาคต ก็น่าจะชัดเจนขึ้น อีกทั้ง BCP มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศไทย มีสถานะทางการเงินที่มั่นคง และมีแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างที่สามารถปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล เนื่องจาก BCP อยู่ระหว่างการเปลี่ยนด้านพลังงาน ซึ่งต้องอาศัยการจัดการของผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจพลังงานดั้งเดิมและพลังงานสมัยใหม่เข้ามาช่วยผลักดัน


ดังนั้น แผนงานและเป้าหมายในการพัฒนา BCP จึงไม่ได้มองบริษัทเป็นธุรกิจพลังงานอย่างเดียว แต่เป็น Growth Platform ในการเข้าสู่ธุรกิจต่างๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงศักยภาพของประเทศได้ โดยเฉพาะลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับ ecosystem ของธุรกิจพลังงานยุคใหม่ หรือเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิด New S-curve ไม่ว่าจะเป็น battery recycle, data center & Al, space หรือแม้แต่ nuclear ซึ่งล้วนแต่เป็นทิศทางใน next wave of growth โดยธุรกิจเหล่านี้ไทยมีจุดแข็งแต่ไม่มีใครลงไปทำ ซึ่งขนาดของ BCP ใหญ่มากพอที่จะทำได้

นั่นทำให้ Alpha Global ได้พิจารณาจัดเตรียมทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจพลังงานทั้งในไทยและระดับโลก รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำกลยุทธ์และดำเนินการด้านกลยุทธ์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนงานในอนาคต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ BCP

ขณะที่ Charted Group จะใช้เครือข่ายธุรกิจที่ครอบคลุมกลุ่มประเทศหลักในโลก รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล นักธุรกิจในหลายประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ BCP เข้าถึงแหล่งเงินทุนนอกประเทศ และโอกาสในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยว

นอกจากนี้ ยังช่วยให้เข้าถึงข้อมูล และเรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจในรูปแบบของ private equity ที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะส่งผลให้ BCP มีการปรับตัวได้ดีขึ้นในโลกปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านี้ Chartered Group ยังมีการลงทุนธุรกิจ advanced technology / deep technology ซึ่งมีบทบาทสำคัญในอนาคตในการใช้เทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม โดยหลายเทคโนโลยี ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ได้เริ่มใช้งานเชิงพาณิชย์ในประเทศพัฒนาแล้ว จึงเป็นโอกาสอันดีที่บริษัทไทยจะได้รับอิทธิพลจากการปรับตัวดังกล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า  แผนธุรกิจใหม่ของ BCP น่าจะใช้เวลา 2-3 ปี ถึงจะเริ่มเห็นความชัดเจน ว่าโครงธุรกิจใหม่จะอิงไปกับเมกะเทรนด์โลกข้างหน้า และต้องใช้เวลาในการเติบโต แต่จะเป็นรายได้ที่มั่นคงขึ้น มีความผันผวนน้อยลง กําไรจะมีเสถียรภาพมากขึ้น 

ย้อนตำนาน BCP

สำหรับจุดกำเนิด บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) นั้นเริ่มจาก โรงกลั่นแห่งแรกในไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2483 โดยกรมเชื้อเพลิง กระทรวงกลาโหม บริเวณช่องนนทรี จังหวัดพระนครแต่เมื่อผ่านไป 5 ปี กลับเจอเหตุให้ต้องยุติกิจการไป เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

จากนั้นอีก 10 ปีต่อมา รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีมติให้จัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ขึ้น ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดพระนคร โดยกรมการพลังงานทหารกระทรวงกลาโหม ได้รับอนุมัติให้สร้างโรงกลั่น ที่ตำบลบางจาก จนแล้วเสร็จในปี 2507 

แต่เมื่อดำเนินกิจการไป กลับประสบภาวะขาดทุนจนรัฐต้องเปิดประมูลให้เอกชนเช่า โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องรับภาระค่าก่อสร้าง และขยายกำลังการกลั่นเป็นวันละ 20,000 บาร์เรล หลังจากนั้น ก็ได้เอกชนมาเช่าโรงกลั่นน้ำมันบางจาก เป็นเวลานาน 15 ปี จนได้มีการขยายหน่วยกลั่นที่ 2 และ 3 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก จนได้วันละ 65,000 บาร์เรล

ต่อมาในปี 2524 ได้มีการยกเลิกสัญญาเกิดขึ้น เนื่องจากมีการผิดสัญญา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงกลั่นน้ำมันทหาร (บางจาก) เหตุการณ์สำคัญ สำหรับ BCP เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มอบหมายให้ "โสภณ สุภาพงษ์" ระดมสรรพกำลังกู้ซากโรงกลั่น จนสามารถพลิกกลับมาดำเนินการได้และก่อตั้งเป็นบริษัทบางจากปิโตรเลียม ใน พ.ศ. 2527 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีหน้าที่หลักคือดำเนินการกลั่นและผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ 

แต่พอถึงปี 2540 ซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง" บริษัทบางจากพบปัญหาเช่นเดียวกับธุรกิจทั้งหลาย ต้องปรับโครงสร้าง และพ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจ จนต้องให้ ปตท.เข้าไปถือหุ้นหลัก 27% ร่วมกับกระทรวงคลัง ซึ่งรวมกันแล้วร้อยละ 40

จากนั้น บริษัทก็โตขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้กรอบบริหาร ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมตั้งสหกรณ์ขายสินค้าชุมชน ต่อมาก็ต่อยอดไปพลังงานชีวภาพ โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ จนขณะนี้ บางจากเป็น "ผู้นำ" ด้านพลังงานทดแทนในประเทศและในภูมิภาค

และแล้วก็มี เหตุการณ์ที่สำคัญของ BCP เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ออกนโยบาย " ลดการผูกขาดของ ปตท." ในธุรกิจน้ำมัน โดยให้ ปตท.ขายหุ้นบางจาก 27% ที่ถืออยู่ออกไป จนมีการคัดค้านต่อต้านเกิดขึ้น ทำให้ ปตท. ตัดสินใจนำหุ้น 27% แบ่งขายให้กองทุนวายุภักษ์ 10% และขายให้ "กองทุนประกันสังคม (สปส.) 17% ในปี 2559 อย่างไรก็ตาม ในที่สุด BCP ก็ถึงคราวเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่อีกครั้งในปีนี้ 

BCP พร้อมคุยผู้ถือหุ้นใหม่


ล่าสุด นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP กล่าวว่า บางจากฯ ไม่มีแผนนโยบายการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock)ในระยะสั้น เพราะไม่มีความจำเป็น โดยราคาหุ้น BCP ในรอบ 12 เดือนหรือ 24 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BCP เป็นหุ้นเพียงตัวเดียวที่ราคาเฉลี่ยไม่ลดลง (สีแดง) แต่เป็นหุ้นเขียว เมื่อเทียบกับ SET Index ราคาหุ้น BCP ดีกว่า 25-30% และหากเทียบกับหุ้นกลุ่มพลังงานพบว่าหุ้น BCP มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง Outperform 30-40% ดังนั้น การซื้อหุ้นคืนจึงไม่มีความจำเป็น และตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมออกกฎระเบียบใหม่ จากนั้นค่อยพิจารณาอีกครั้ง 

ส่วนกรณีที่ บริษัทอัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญบางจากฯ บิ๊กล็อต จาก บริษัท Capital Asia Investments Pte Ltd หรือ CAI จากสิงคโปร์ จำนวน 84,454,585 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 6.1335% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท ส่งผลให้อัลฟ่าฯ ถือครองหุ้น BCP รวมทั้งสิ้น 275,500,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.0083% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท ขยับขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 1 ในบางจากฯ นั้น นายชัยวัฒน์กล่าวว่า หากได้รับการติดต่อพูดคุยกับทางอัลฟ่าฯ จะปรึกษาทิศทางการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าอัลฟ่าฯ มีความเชื่อมั่นในบริษัทจึงได้เข้ามาซื้อหุ้นจนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เข่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี การเข้ามาซื้อหุ้น BCP ดังกล่าวมีส่วนให้ราคาหุ้น BCP ยืนอยู่ในแดนเขียวในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา

 แนวโน้มปีนี้เติบโตต่อเนื่อง

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินทิศทางธุรกิจปี 2025 ว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทรับรู้ประโยชน์จาก Synergy การบริหารงานร่วมกันระหว่าง BCP และ BSRC โดยการปรับโครงสร้างถือหุ้น BSRC จะช่วยลดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน รวมถึงช่วยให้การบริหารงานคล่องตัว และรับรู้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มธุรกิจปี 2025 มีปัจจัยการเติบโตจากการดำเนินงานภายใน เช่น 1)อัตรากลั่นรวมเพิ่มเป็น 280 kbd (vs 258 kbd) เพราะไม่มีการหยุดซ่อมเหมือนปีก่อน และเร่งเพิ่มกำลังผลิตของโรงกลั่นศรีราชา 2) ปริมาณขายน้ำมันเพิ่มขึ้น +5% จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เช่น B24 Marine Oil และกลยุทธ์การตลาด 3) การเร่งกิจกรรมขุดเจาะช่วยเพิ่มปริมาณผลิตแบบ Organic Growth

ขณะที่โครงการน้ำมันอากาศยานยั่งยืน SAF ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้า 93% คาด COD ไต้ในไตรมาส 2/68 แม้ปัจจุบัน Margin SAF ถูกกดดันเพราะหลายประเทศเลื่อนการบังคับใช้อัตราผสม(Mandate) อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสัญญาซื้อขาย SAF มีความยืดหยุ่นในการผลิตให้ ทำให้คงประมาณการกำไรปีนี้ที่ 6.7 พันล้านบาท เติบโตจากปีก่อน โดยมีราคาเหมาะสม 39.00 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น