xs
xsm
sm
md
lg

DappRadar เผยปี 68 อุต ฯ คริปโตสูญเงินร่วม 6 พันล้าน เหตุ Rugpull พุ่ง 6,500%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



DappRadar เปิดรายงานชี้ชัด หายนะ “Mantra Network” เบื้องหลังการหลอกลวงครั้งใหญ่ แฉแผนซับซ้อน ฉกเงินหายวับกลางวงการคริปโต แม้จำนวนเคสลด แต่ความรุนแรงกลับเพิ่มระดับขั้นวิกฤต วงการ DeFi เจอบทเรียนราคาแพง

ในขณะที่โลกคริปโตยังคงเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งาน รายงานล่าสุดจาก DappRadar ได้เปิดโปงความจริงอันน่าตกตะลึง ว่าการหลอกลวงแบบ “Rugpull” ในตลาดคริปโต ได้พุ่งขึ้นถึง 6,499% นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ส่งผลให้มีเม็ดเงินหายไปจากระบบมากถึง 5.97 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 220,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2567 ที่มีความเสียหายเพียง 90 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

แม้จำนวนเหตุการณ์ Rugpull จะลดลงจาก 21 เคส เหลือเพียง 7 เคสในปีนี้ แต่การลดลงนี้ไม่ได้หมายถึงความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ตรงกันข้าม มันสะท้อนถึงกลยุทธ์ใหม่ของมิจฉาชีพที่หันมาใช้กับดักที่ซับซ้อนและเจาะจงเพื่อดูดกลืนทั้งระบบนิเวศในคราวเดียว


เจาะลึก "Mantra Meltdown" คดีหลอกลวงที่สั่นสะเทือนวงการ

ต้นตอของความสูญเสียกว่า 90% มาจากโปรเจกต์ Mantra Network ซึ่งเป็นโปรเจกต์ DeFi ที่รันอยู่บนบล็อกเชน Polygon โดยมีเป้าหมายแสดงตนว่าเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม DeFi และยูทิลิตี้ข้ามสายโซ่

Mantra เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่อลังการ สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจในอุตสาหกรรมบล็อกเชนอย่างมากและได้รับการจดทะเบียนบนแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง DappRadar แต่เมื่อดูข้อมูลเชิงลึกกลับพบความผิดปกติที่รุนแรง โดยพบพิรุธที่น่าสงสัย ได้แก่

1.จำนวนกระเป๋าเงินที่มีการใช้งานจริง (Unique Active Wallets) สูงสุดอยู่ที่เพียง 64 บัญชี
ในเดือนธันวาคม 2567

2.ปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เริ่มจาก 1-11 กระเป๋าต่อวัน และหลายวันไม่มีการใช้งานเลย


3.ธุรกรรมแปรปรวน บางวันสูงถึง 66 รายการ บางวันไม่มีเลย


4.บ่งชี้ถึงการใช้งานบอท การจำลองธุรกรรม หรือการควบคุมภายใน


ไม่เพียงเท่านั้น Smart Contract ของ Mantra ยังไม่ได้รับการยืนยัน และไม่มีแหล่งข้อมูลโค้ดโอเพนซอร์สบน GitHub อีกด้วย การกระจายกระเป๋าเงินภายในก็บ่งชี้ถึงการรวมศูนย์ ซึ่งมักเป็นจุดเริ่มต้นของการ “เทเหรียญ” แล้วชิ่งหนี

ทั้งหมดนี้คือสัญญาณเตือนที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า แต่มักถูกมองข้ามหรือกลบเกลื่อนด้วยกลยุทธ์การตลาดที่ดูน่าเชื่อถือ


ภัยเงียบที่ซับซ้อนขึ้น นักเทรดต้องระวังให้ทันเกม

จากรายงานของ DappRadar ระบุว่า ในไตรมาสแรกของปี 2567 การหลอกลวงยังเน้นไปที่ NFT, โทเค็นมีม และโปรเจกต์ DeFi ขนาดเล็ก แต่ในปี 2568 รูปแบบได้เปลี่ยนไปโดยเน้นโจมตีผ่านเหรียญมีม (Memecoin) เป็นหลัก พร้อมด้วยการใช้กลยุทธ์หลอกลวงขั้นสูงผ่านโซเชียลมีเดีย

ขณะที่สมาคมผู้บริหารหลักทรัพย์อเมริกาเหนือ (NASAA) ได้ยืนยันว่า “การหลอกลวงคริปโตบนโซเชียลมีเดีย” เป็น ภัยคุกคามอันดับหนึ่งต่อผู้ลงทุนรายย่อยในปีนี้ โดยมิจฉาชีพใช้แพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Facebook, X, Telegram และ WhatsApp เพื่อหลอกล่อเหยื่อ

ขณะที่กลยุทธ์ใหม่ที่มาแรงในปีนี้ ได้แก่

1.การสร้างเนื้อหาด้วย AI


2.การบิดเบือนอารมณ์ผ่าน FOMO (กลัวพลาด)


3.การหลอกแบบ “ฆ่าหมู” หรือ Pig Butchering ที่หลอกให้รักแล้วเชือดเงินในตอนจบ


NASAA ระบุว่า เกือบ 39% ของหน่วยงานกำกับ เชื่อว่าเนื้อหาที่สร้างด้วย AI จะกลายเป็นเครื่องมือหลักของนักต้มตุ๋น และอีก 22% คาดว่า Deepfake จะถูกใช้มากขึ้นในอนาคต

Rugpull เป็นบทเรียนราคาแพง “ไม่หายไป แต่วิธีการแค่เปลี่ยนไป”

ในปี 2567 ที่ผ่านมา Chainalysis ประเมินความเสียหายจากการฉ้อโกงในโลกคริปโตไว้ที่ 9.9 พันล้านดอลลาร์ และอาจสูงถึง 12 พันล้านดอลลาร์ เมื่อรวมตัวเลขทั้งหมด โดยเฉพาะการหลอกแบบฆ่าหมูที่เพียงประเภทเดียวก็ก่อความเสียหายไปกว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์

แม้โลกคริปโตจะเป็นพื้นที่แห่งนวัตกรรมและเสรีภาพทางการเงิน แต่ความอิสระนั้นก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่หนักหน่วง การป้องกันภัยในวันนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการตั้งรหัสผ่านให้แน่นหนา แต่คือการ รู้เท่าทันกลลวงอันซับซ้อนที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน