xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปีนี้ต่ำ 2.5% ย้ำกนง.นำภาษีทรัมป์เข้าหารือพร้อมดูแลตลาดเงินใกล้ชิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท. เตรียมปรับลดเป้าจีดีพีปีนี้ต่ำกว่า 2.5% ในการประชุม กนง. 30 เม.ย.นี้ จากผลกระทบภาษีทรัมป์ ฉุดภาคส่งออกและเงินเฟ้อ พร้อมดูแลความผันผวนตลาดเงินใกล้ชิด - เปิด 5 ปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทย



นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทงประเทศไทย(ธปท.) วิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นของนโยบายการค้าโลกต่อเศรษฐกิจไทย ว่า จากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยมากขึ้นครึ่งปีหลังนี้ แต่ทั้งปีตัวเลขส่งออกยังไม่ติดลบ และผลกระทบจะมีมากขึ้นในปี2569 ทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 30 เม.ย. นี้ จะมีการปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ลง คาดว่าจะต่ำกว่า 2.5% รวมถึงการปรับลดเป้าหมายการส่งออก



"ไตรมาส 1 การเร่งการส่งออกของไทยยังเป็นบวก และ คาดว่า ไตรมาส 2 ก็ยังโตอยู่ ซึ่งผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯจะมีมากขึ้นในครึ่งปีหลังและต่อเนื่องถึงปี 69 ส่วนเงินเฟ้อก็จะถูกปรับลงเช่นกัน โดยไม่ได้เป็นเหตุผลหลักที่จะทำให้ลดดอกเบี้ย แต่เกิดจากอุปทานทางด้านพลังงาน ราคาน้ำมันที่ลดลง"นายสักกะภพ กล่าว



ธปท. จะติดตามสถานการณ์ภาพรวมอย่างใกล้ชิด และ จะจับตาโอกาสที่อาจเกิด disruption ใน sector สำคัญที่ส่งออกไปสหรัฐฯ รวมถึงการแข่งขันของสินค้านำเข้า โดยจะติดตามข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้แก่

1.การค้า เช่น ธุรกรรมการส่งออกและนำเข้า

2.การผลิตและการจ้างงาน เช่น การแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว ตามมาตรา 75 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ

3.ภาวะการเงิน เช่น ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และต้นทุนการกู้ยืมผ่านหุ้นกู้ภาคเอกชน แ

4.sentiment การลงทุน เช่น การขออนุมัติส่งเสริมการลงทุน และ การขอขยายเวลาการออกบัตรฯ เพื่อเลื่อนการลงทุนออกไป

นอกจากนี้ ธปท. จะดูแลการทำงานของกลไกตลาดต่าง ๆ (market functioning) ให้ดำเนินเป็นปกติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลความผันผวนในตลาดการเงินที่สูงกว่าปกติในช่วงนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง อีกทั้ง นโยบายการค้าโลกที่เปลี่ยนไปถือเป็นปัจจัยที่จะเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างถาวร ทำให้ต้องเร่งปรับตัว โดยในระยะสั้น นอกจากการเร่งเจรจากับสหรัฐฯ แล้ว ไทยควรมีมาตรการรับมือ ทั้งการแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศ และ ป้องกันการนำเข้าสินค้ามาเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผ่านไทย (transshipment) เช่น กำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้า และ ความคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ การเร่งรัดกระบวนการไต่สวน (AD/CVD และ AC) ข้อพิพาทกับต่างประเทศ การเข้มงวดกับการตรวจสอบสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ป้องกันการสวมสิทธิจากประเทศที่สาม เป็นต้น

ในระยะยาวไทยควรขยายตลาด และ เสริมสร้าง supply chain โดยเฉพาะกับประเทศในภูมิภาค และ ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้แข่งขันในห่วงโซ่อุปทานของโลกได้ เช่น ยกระดับภาคการผลิต และ ภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป อาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยเฉพาะการวิจัย และนวัตกรรม ทักษะแรงงาน และ การปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

ทั้งนี้นโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก จะส่งผลต่อภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และ การค้าโลกอย่างมีนัย สถานการณ์คาดว่าจะยืดเยื้อ ซึ่งผลกระทบจะส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยในหลายช่องทาง และ ใช้เวลากว่าจะเห็นผลที่ชัดเจน

โดยในระยะสั้น ตลาดการเงินผันผวนขึ้น เริ่มเห็นการผลิต การค้า และ การลงทุนบางส่วนชะลอเพื่อรอความชัดเจน ในขณะที่จะเห็นผลของ tariff ต่อการส่งออกมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นกับภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บเทียบกับประเทศคู่ค้า และ การตอบโต้ระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลัก และสหรัฐฯ ซึ่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินไทยจะมีผ่าน 5 ช่องทางหลัก ดังนี้

1. ตลาดการเงิน : ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลก และ ไทยผันผวนมากขึ้น โดยรวมสภาพคล่อง และ กลไกการทำธุรกรรม (market functioning) ยังเป็นไปตามปกติ ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากช่วงก่อนวันที่ 2 เมษายนเล็กน้อย (2.71% ณ 12.00 น. 17 เม.ย. 68 เทียบกับ JPY และ KRW ที่แข็งค่าขึ้น 4.75% และ 3.11% ตามลำดับ) สอดคล้องกับภูมิภาคตามค่าเงิน USD ที่อ่อนเร็วจากความกังวลต่อผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนตลาดหุ้นปรับลดลงสอดคล้องกับภูมิภาค

ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่เห็นการทำธุรกรรมที่ผิดปกติจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ในส่วนของภาวะการระดมทุนผ่านหุ้นกู้โดยรวมยังเป็นปกติ โดยต้องติดตามผลจากภาวะการเงินต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก tariff อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี

2. การลงทุน : ความไม่แน่นอนที่ยังสูงต่อเนื่องทำให้การตัดสินใจทางธุรกิจ และ การลงทุน ชะลอออกไป (wait and see) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลัก (อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และยานยนต์) ซึ่งเริ่มเห็นผลดังกล่าวบ้างแล้ว จากการหารือกับผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าว มีบางส่วนรอความชัดเจนเพื่อตัดสินใจการลงทุนใหม่จากแผนเดิมที่วางไว้ ในระยะต่อไป หากไทยถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นอาจเห็นการย้ายฐานการผลิตออกจากไทย

3. การส่งออก : เป็นช่องทางหลักที่ได้รับผลกระทบจาก tariff แต่ยังมีความไม่แน่นอนของนโยบายภาษี เพราะมีการชะลอการบังคับใช้ reciprocal tariff ออกไป 90 วัน จึงคาดว่า จะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป และ น่าจะเห็นการเร่งส่งออกในไตรมาส 2 เช่น อาหารแปรรูป โดย exposure ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ คิดเป็น 18% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และ คิดเป็น 2.2% ของ GDP

โดยกลุ่มธุรกิจหลัก ๆ ที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และ อาหารแปรรูป นอกจากนี้ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ใน supply chain ของโลกที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วย(ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก และ เคมีภัณฑ์ คิดเป็นประมาณ 4.3% ของการส่งออกไทย)

4. การแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น : สินค้าไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง และ หันมาส่งออกไปยังตลาดเดียวกับไทยรวมถึงส่งมายังไทย โดยเฉพาะหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และ เคมีภัณฑ์ ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาในภาคการผลิตที่มีอยู่เดิม

5. เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอลง : การส่งออกโดยรวม และ รายรับการท่องเที่ยวอาจถูกกระทบจากเศรษกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะปรับลดลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการนำเข้า และ เงินเฟ้อของไทยชะลอลงจากปัจจัยด้านอุปทาน


กำลังโหลดความคิดเห็น