รายงานชี้รัฐบาลท้องถิ่นจีนลักลอบใช้เอกชนเทขายสกุลเงินดิจิทัลที่ยึดมาได้ แม้ผิดกฎห้ามซื้อขายในประเทศ หวังแปลงเป็นเงินสดอัดฉีดคลังรัฐในภาวะเศรษฐกิจซบเซา นักวิชาการเตือนแนวทางไร้กฎชัด อาจเปิดช่องทุจริต ขณะเสียงเรียกร้องให้ใช้คริปโตที่ริบเป็น “ทุนสำรอง” ก็ดังขึ้นเรื่อย ๆ
สำนักข่าวรอยเตอร์เผยรายงานล่าสุดว่า รัฐบาลท้องถิ่นในประเทศจีนกำลังหันมาใช้บริการบริษัทเอกชน เพื่อแอบขายสกุลเงินดิจิทัลที่ยึดได้จากคดีต่าง ๆ ในตลาดต่างประเทศ หวังเปลี่ยนเป็นเงินสดเข้าคลังท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แม้การดำเนินการดังกล่าวจะขัดกับคำสั่งห้ามซื้อขายคริปโตในประเทศอย่างชัดเจน
รายงานระบุว่าขณะนี้ทางการจีนยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าควรจัดการกับทรัพย์สินดิจิทัลที่ถูกยึดมา อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และกระบวนการที่ “ขาดความโปร่งใส” ซึ่งนักกฎหมายบางรายกังวลว่าอาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริต
โดย รอยเตอร์เผยอ้างอิงเอกสารทางธุรกรรมและของศาลว่า หน่วยงานท้องถิ่นของจีนได้นำคริปโตที่ยึดมา ไปให้บริษัทเอกชนเทขายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามการซื้อขายคริปโตภายในประเทศอย่างชัดเจน
จีนถือครองบิทคอยน์มากเป็นอันดับสองของโลก
ข้อมูลจาก Bitbo ระบุว่ารัฐบาลจีนถือครองบิทคอยน์ประมาณ 194,000 BTC คิดเป็นมูลค่าราว 16,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 588,000 ล้านบาท ส่งผลให้เป็นประเทศที่ถือครอง BTC มากเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์เฉินสือ (Chen Shi) แห่งมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ Zhongnan ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า “การขายคริปโตที่ยึดมาเหล่านี้ อาจช่วยแก้ปัญหาระยะสั้นได้ แต่ก็เป็นการฝืนต่อกฎการห้ามซื้อขายคริปโตในประเทศอย่างชัดเจน”
อาชญากรรมคริปโตพุ่ง – คดีฟอกเงินทะลุ 3,000 ราย
ปรากฏการณ์ดังกล่าวยิ่งตอกย้ำภาพของการใช้งานคริปโตในทางผิดกฎหมายในจีนที่เพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบของการฉ้อโกงออนไลน์ การพนันใต้ดิน ไปจนถึงการฟอกเงิน โดยในปี 2567 เพียงปีเดียว รัฐบาลได้ฟ้องร้องคดีฟอกเงินที่เกี่ยวข้องกับคริปโตแล้วกว่า 3,000 ราย
เสียงเรียกร้องควรเปลี่ยนคริปโตเป็นทุนสำรองของชาติ
ในขณะที่รัฐบาลพยายามแปลงคริปโตเป็นเงินสดเพื่อใช้จ่าย ก็มีเสียงเรียกร้องจากนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยีว่า รัฐบาลควรหันมาใช้คริปโตที่ยึดมาเพื่อเสริมความมั่นคงด้านการเงินระยะยาวแทน
Guo Zhihao ทนายความประจำเมืองเซินเจิ้นเสนอว่า “ธนาคารกลางจีนควรเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการคริปโตที่ยึดได้ อาจจะขายในตลาดต่างประเทศอย่างเป็นระบบ หรือจะเก็บไว้เป็นทุนสำรองของรัฐก็ได้”
แนวคิดนี้สอดคล้องกับมุมมองของ Ru Haiyang ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอร่วมของ HashKey แพลตฟอร์มเทรดคริปโตในฮ่องกง ซึ่งเห็นว่าจีนอาจใช้บิทคอยน์ที่ยึดมาเก็บไว้เป็น “ทุนสำรองทางยุทธศาสตร์” เช่นเดียวกับนโยบายที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เคยเสนอ
ฮ่องกงกลายเป็นพื้นที่ทดลองคริปโตในกฎหมายเปิด
ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ยังคงจำกัดคริปโตอย่างเข้มงวด ฮ่องกงกลับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อนุญาตให้มีการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างถูกกฎหมาย ทำให้เกิดข้อเสนอว่าจีนควรตั้ง “กองทุนคริปโตแห่งชาติ” ในฮ่องกง เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานการเงินใหม่ของรัฐ
ภูมิรัฐศาสตร์ สงครามหรือโอกาส เมื่อคริปโตเป็นมากกว่าเงินดิจิทัล
การเคลื่อนไหวของจีนเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดด้านการค้ากับสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับแนวโน้มของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า จะส่งเสริมสกุลเงินดิจิทัลที่มีเสถียรภาพ และใช้เป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากจีนยังคงใช้แนวทาง “แบนแต่ขาย” โดยไม่มีกรอบนโยบายที่ชัดเจน อาจกระทบต่อความเชื่อมั่น และอาจนำไปสู่การอ่อนค่าของสกุลเงินหยวนในระยะยาว ซึ่งจะเร่งให้ประชาชนหันไปพึ่งพาเงินดิจิทัลยิ่งกว่าเดิม