xs
xsm
sm
md
lg

เสียดายมาตรการห้าม SHORT SELL / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกที่ระส่ำระสาย เกิดความปั่นปั่น ดัชนีหุ้นทรุดฮวบลงกันระเนระนาด จากนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าอย่างบ้าระห่ำของประธานาธิบดีทรัมป์ ตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศมาตรการด่วน เพื่อยับยั้งหรือบรรเทาผลกระทบที่จะพุ่งกระหน่ำซ้ำเติมตลาดหุ้นไทย

มาตรการชะลอผลกระทบจากการพังทลายของตลาดหุ้นโลกหลักๆมีอยู่ 2มาตรการคือ การกำหนดเพดานการขึ้นลงของราคาหุ้นต่ำสุดและสูงสุดไม่เกิน 15% เป็นการชั่วคราว จากเดิมกำหนดเพดานขึ้นลงไปเกิน 30%

และการห้ามการยืมหุ้นมาขายหรือห้าม SHORT SELL เป็นการชั่วคราว เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา

การออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นความพยายามที่ดี และมาตรการที่ประกาศใช้ฉุกเฉินก็เป็นมาตรการที่ดี

เพียงแต่ผลกระทบที่โถมเข้าใส่ตลาดหุ้นไทย รุนแรงเกินจะรับมือไหว ดัชนี ฯ จึงทรุดตามตลาดหุ้นโลก หลุดระดับ 1100 จุดจนได้

การประกาศห้าม SHORT SELL ถ้าในช่วงสถานการณ์ปกติ ตลาดหุ้นคงวิ่งกันระเบิดเถิอเทิง แต่เนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ นักลงทุนทั้งโลกกำลังตื่นตระหนกในผลกระทบจากนโยบายภาษีของ "ทรัมป์" จนเกิดการเทขายหุ้น "หนีตาย" มาตรการที่ดีจึงไม่มีปฏิกิริยาตอบรับจากนักลงทุน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดให้ SHORT SELL เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มกราคมปี 2541 โดยกำหนดให้ SHORT SELL เฉพาะหุ้นใน SET 50 หรือหุ้นขนาดใหญ่ 50 ตัว

การเปิดให้ SHORT SELL เพื่อเปิดทางเลือกให้นักลงทุน สามารถทำกำไรในช่วงตลาดขาลงได้ เพราะช่วงปี 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ตลาดหุ้นถล่มทลาย ปรับตัวลงม้วนเดียว เช่นเดียวกับปัจจุบันที่หุ้นตกต่ำต่อเนื่องมา 3 ปี

เมื่อหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวลง นักลงทุนจึงพากันชะลอการลงทุน ได้แต่ยืนเฝ้ากระดานหุ้น สภาพคล่องการซื้อขายจึงหดหาย ทำให้บรรยากาศตลาดหุ้นเงียบเหงา

ดัชนีฯหุ้นที่เคยพุ่งขึ้นสูงสุดที่ระดับ 1753 จุด เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 ได้ทรุดลงจนต่ำสุดที่ระดับ 205 จุด ประมาณกลางปี 2541 ซึ่งเป็นช่วงที่ ดร.นิเวศ เหมวชิรวรากร เริ่มต้นสู่อาชีพนักลงทุนเต็มตัว

เพราะนักลงทุนจะทำกำไรได้ เฉพาะในข่วงแนวโน้มตลาดขาขึ้นเท่านั้น เมื่อหุ้นลงส่วนใหญ่จึงหยุดกิจกรรมการซื้อขาย

SHORT SELL เป็นทางเลือกใหม่ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนทำกำไรในช่วงตลาดขาลงที่ใช้มา 38 ปีแล้ว และไม่เคยถูกระงับ

แม้ในปี 2567 ซึ่งนักลงทุนทั้งตลาดหุ้น ลุกฮือขึ้นมาเรียกร้อง ขอให้ห้าม SHORT SELL ชั่วคราว เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพื่อหยุดยั้งการซ้ำเติมตลาด จากการเล่นหุ้นขาลงของนักลงทุนต่างชาติ โดยการขาย SHORT กดให้ราคาหุ้นลงต่ำ ก่อนจะซื้อคืน โกยกำไรจากส่วนต่างราคาไปสบายๆ

แต่นักลงทุนในประเทศ ต้องทุกข์ระดมจากความล่มจมของราคาหุ้นที่ดิ่งลงจากการทุบขาย SHORT ของต่างชาติ

นักลงทุนแทบจะต้องตีกันตายกับนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์คนก่อน โดยขอให้ห้าม SHORT SELL แต่นายภากรยืนกระต่ายขาเดียว ไม่ยอมห้าม SHORT SELL

แต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ตลาดหลักทรัพย์ได้ออกมาตรการเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน โดย 1 ในมาตรการสำคัญคือ UPTICK RULE หรือมาตรการฟ้องการการทุบราคาหุ้นจากการขาย SHORT

มาตรการ UPTICK RULE ยอด SHORT SELL ลดฮวบในทันที จากเดือนมิถุนายนปี 2567 ซึ่งมียอด SHORT SELL สัดส่วน 12.88% ของมูลค่าซื้อขายหุ้นทั้งตลาด ลดเหลือเพียงประมาณ 4% ของมูลค่าการซื้อขายหุ้นรวมทั้งตลาด

ขณะที่ตลาดหุ้นฟื้นคืนสู่ความคึกคัก ดัชนี ฯ ดีดตัวขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติที่ขาย SHORT ต้องกลับมาซื้อหุ้นคืน

การประกาศห้าม SHORT SELL ไม่ได้เกิดจากข้อเรียกร้องของนักลงทุน แต่ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์คงประเมินแล้วว่า น่าจะเป็นมาตรการบรรเทาแรงกระแทกผลกระทบภาษีทรัมป์ได้บ้าง และป้องกันต่างชาติถือโอกาส ถล่มตลาดหุ้นไทยซ้ำ เพื่อทำกำไรหุ้นขาลง

แม้จะยังไม่เห็นผลชัดเจน จากมาตรการห้าม SHORT SELL แต่ในยามสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ยามตลาดหุ้นเปราะบาง และเปิดช่องให้ต่างชาติทุบหุ้นทำกำไรขาลง ซ้ำเติมนักลงทุนในประเทศ

ประกาศห้าม SHORT SELL ควรดำรงไว้ต่อไป จนกว่าตลาดหุ้นจะกลับสู่สถานการณ์ที่เป็นปกติจริงๆ

แต่น่าเสียดาย การห้าม SHORT SELL สิ้นสุดลงเสียแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา หลังตลาดหุ้นฟื้นคืนชีพได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น

และน่าเสียดาย ประกาศห้าม SHORT SELL ครั้งแรกในรอบ 27 มีผลบังคับใช้ ซึ่งช่วยให้นักลงทุนในประเทศสบายใจว่า

จะไม่ถูกฝรั่งทุบหุ้น ทำกำไรขาลงได้เพียง 4 วันทำการเท่านั้น








กำลังโหลดความคิดเห็น