xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 33.83-แกว่งตัว Sidewaysมีโอกาสกลับไปแข็งค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(11เม.ย.68) ที่ระดับ 33.83 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 34.15 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.70-33.95 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ) โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดโซนแนวรับสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน (แกว่งตัวในกรอบ 33.80-34.20 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถปรับตัวขึ้น ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (New All-Time High) ได้อีกครั้ง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดทางการสหรัฐฯ ได้ออกมายืนยันว่า อัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนนั้นจะสูงถึง 145% (125% + 20% เพื่อลงโทษที่ทางการจีนไม่ได้สกัดกั้นการไหลเข้าของยา Fentanyl สู่สหรัฐฯ อย่างจริงจัง)

นอกจากนี้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม ที่ชะลอลงสู่ระดับ 2.4% ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็ชะลอลงสู่ระดับ 2.8% ต่ำกว่าคาด เช่นกัน) ก็มีส่วนหนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ พร้อมกับกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยราว 4 ครั้ง ในปีนี้ เป็น 68% ขณะเดียวกัน ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังได้หนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทะลุโซน 144 เยนต่อดอลลาร์ อีกทั้งยังหนุนความต้องการถือทองคำ หลังบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงเทขายต่อเนื่อง ที่ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการ Unwind สถานะ Basis Trade กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นเข้าใกล้ระดับ 4.50% อีกครั้ง

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตา รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดติดตามใกล้ชิด พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนเมษายน โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาว พร้อมรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 4 ครั้ง ในปีนี้ (โอกาส 68%)

และในฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มภาคการผลิตอุตสาหกรรมของอังกฤษ ผ่านรายงานยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนมกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ECB อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยติดต่อกันได้ราว 3 ครั้ง ในปีนี้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ หลุดทุกโซนแนวรับที่เราประเมินไว้ ทำให้เรายอมรับว่า ในระยะสั้น เงินบาทอาจกลับมาแกว่งตัวในกรอบ Sideways โดยมีโอกาสเห็นเงินบาทกลับไปแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับ 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้ หากเงินบาทยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ และการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ หากประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทหลุดโซนแนวรับ 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน ก็สะท้อนว่า เงินบาทได้เปลี่ยนจากแนวโน้มอ่อนค่าลง มาเป็นแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น หรือ อย่างน้อยอาจแกว่งตัว Sideways ไปก่อน

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากบรรยากาศในตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง อาจทำให้ยังพอเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง ขณะเดียวกัน เรามองว่า ราคาทองคำก็เสี่ยงย่อตัวลงบ้าง หากไม่ได้มีปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม และที่สำคัญ โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติก็จะเริ่มทยอยเข้ามา ช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้าง นอกจากนี้ เรามองว่า การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา กอปรกับการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท อาจหนุนให้บรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะฝั่งธุรกิจพลังงาน อาจเข้าซื้อน้ำมันมากขึ้น ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้
กำลังโหลดความคิดเห็น