การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของบริษัทจดทะเบียนไปแล้ว โดยล่าสุด บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS ได้ประกาศแจ้งเลื่อนการไถ่ถอนหุ้นกู้วงเงิน 525.54 ล้านบาทที่จะครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 8 เมษายน 2568 ออกไปก่อน
JTS ออกหุ้นกู้รวม 3 รุ่น วงเงินทั้งสิ้น 738.44 ล้านบาท โดยอีก 2 รุ่นจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2570 และ 2571 แต่หุ้นกู้รุ่นที่ 1 ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา
บริษัท ฯ อ้างว่า ภาวะตลาดตราสารหนี้ไม่เอื้อต่อการระดมทุนใหม่ ส่งผลให้ไม่สามารถออกหุ้นกู้ใหม่ เพื่อรีไฟแนนซ์หรือโรลโอเวอร์หุ้นกู้ที่ครบกำหนดได้
และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องบริหารกระแสเงินสดไว้ จึงไม่สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้วันที่ 8 เมษายน 2568 และถือเป็นเหตุผิดนัดชำระหนี้
แต่เพื่อแสดงความตั้งใจจริงว่า บริษัทจะชำระคืนหนี้หุ้นกู้ให้ผู้ถือหุ้นกู้ทุกรายจนครบถ้วน จึงจะชำระคืนเงินต้นบางส่วนคือ 140 บาท ต่อหุ้นกู้ 1 หน่วยมูลค่า 1000 บาท หรือ คืนเงินต้น 14% ของมูลค่าหุ้นกู้ 1 หน่วย รวมวงเงินชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้รุ่นที่ 1 จำนวน 103.62 ล้านบาท ส่วนเงินต้นหุ้นกู้ส่วนที่เหลือ บริษัทจะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น 1 เพื่อพิจารณาปรับเงื่อนไขชำระคืนต่อไป
การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ เป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน และบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศเลื่อนการไถ่ถอนหุ้นกู้ มักจะมีอันเป็นไป โดยนักลงทุนหมดความเชื่อมั่น มองบริษัทจดทะเบียนที่เบี้ยวหนี้ในแง่ร้าย และส่วนใหญ่ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หรือล่มสลาย ถูกตลาดหลักทรัพย์ตะเพิดพ้นตลาดหุ้นในที่สุด
การประกาศผิดนัดชระหนี้หุ้นกู้ของ JTS ซึ่งเป็นข่าวร้าย และควรฉุดให้หุ้นดิ่งลง แต่ราคาหุ้นกลับพุ่งทะยานอย่างร้อนแรง สวนข่าวร้ายทันที โดยการซื้อขายวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ราคาหุ้นปรับขึ้นมาปิดที่ 29.75 บาท เพิ่มขึ้น 3.78 บาท หรือเพิ่มขึ้น 14.42% ชนเพดานสูงสุดตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์เพิ่งประเทศใช้ชั่วคราว โดยกำหนดราคาขึ้นลงสูงสุดของราคาหุ้นไม่เกิน 15% จากเดิมกำหนดเพดานขึ้นลงสูงสุดต่ำสุดไม่เกิน 30%
JTS เป็นหุ้นบริษัทลูกของ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 44.14% ของทุนจดทะเบียน และเคยสร้างประวัติศาสตร์ เป็นหุ้นปรับตัวขึ้นแรงที่สุดนับจากก่อตั้งตลาดหุ้น
โดยในปี 2564 ราคาพุ่งขึ้น 6,688% จากราคาปิดสิ้นปี 2563 ที่ 1.93บาท ทะยานขึ้นมาปิดที่ 131 บาท ในสิ้นปี 2564 และปี 2565 ก็ยังถูกลากขึ้นไปต่อจนพุ่งสู่จุดสูงสุดที่ 586 บาท เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 หรือปรับตัวขึ้นประมาณ 30,000% เมื่อเทียบกับจุดปิดสิ้นปี 2563
แต่หลังจากนั้น JTS ก็สิ้นลาย ราคาเดินทางกลับบ้านเก่า และลงมาต่ำสุดที่ 22.10 บาท ก่อนจะเริ่มกระเตื้องขึ้นมาใหม่
JTS มีประวัติอันโชกโชน ถูกตลาดหลักทรัพย์ประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขาบนับไม่ถ้วน เช่นเดียวกับหุ้นในกลุ่ม JAS ซึ่งมีการใช้ข้อมูลภายในหรืออินไซเดอร์เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไปและการปั่นหุ้น โดยนายพิชญ์ โพธารามิค เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ JAS
ช่วงที่เปิดยุทธการลากหุ้น JTS อย่างเย้ยฟ้าท้าดิน ระหว่างปี 2564-2565 มีการโหนกระแสการตั้งเหมือนขุดบิทคอยน์ โดยเดือนธันวาคมปี 2564 คณะกรรมการ JTS มีมติตั้งเหมือนขุดบิทคอยน์ โดยจะถล่มเงินลงทุนประมาณ 3,300 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 2567 มีเครื่องขุดบิทคอยน์ 50,000 เครื่อง
ไม่มีข่าวคราวเท่าไหร่ว่า การตั้งเหมืองขุดบิทคอยน์ของ JTS ประสบความสำเร็จเพียงใด และปัจจุบันมีจำนวนเครื่องขุดอยู่เท่าไหร่
แต่การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ เป็นสัญญาณเตือนภัยนักลงทุน สถานการณ์หุ้น JTS ไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่
จะหนีออกก่อน ชิงขายหุ้นทิ้งหรือไม่ นักลงทุนที่ถือ JTS ไว้ต้องตัดสินใจกันเองละ