ประเทศไทยและหลายประเทศทั้งในอาเซียน เอเซีย แอฟริกา ยุโรป กลายเป็น 1 ในสมรภูมิการค้าสำคัญของจีนไปแล้ว เพราะทุนจีนมีการแผ่ขยายเข้าไปลงทุน กว้านซื้อกิจการหรืออสังหาริมทรัพย์ทั้งในรูปแบบของนิติบุคคล และบุคคลทั่วไป ขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายของประเทศนั้นๆ เปิดช่องหรือมีอะไรที่เอื้อต่อการเข้าไปลงทุนของพวกเขามากน้อยเพียงใด หลายประเทศในอาเซียนกลายเป็นพื้นที่ที่ทุนจีน บางส่วนเข้าไปลงทุนทั้งในรูปแบบของกิจการที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย หรือมีธุรกิจที่มีความก้ำกึ่งในเรื่องของกฎหมายและศีลธรรม แต่ก็มีทุนจีนส่วนหนึ่งที่เข้าไปลงทุนแบบถูกต้องตามกฎหมายประเทศนั้นๆ แบบ 100% เพียงแต่รูปแบบของการเข้าไปสร้างผลกระทบและแรงกระเพื่อมที่ต่อเนื่องไปถึงหลายๆ ภาคส่วนในประเทศนั้นๆ จนถึงขั้นที่ธุรกิจในประเทศนั้นๆ ไปต่อไม่ได้ก็มี ในประเทศไทยเองก็เจอแบบนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว และตอนนี้ก็ยังเผชิญอยู่ เพียงแต่ผลกระทบยังจำกัดอยู่ในกลุ่มของธุรกิจบางอย่างเท่านั้น แต่ผลกระทบมากและลามไปในวงกว้างแล้ว และเริ่มมีการตระหนักรวมไปถึงมีการตรวจสอบถึงเรื่องนี้มากขึ้นแล้ว
กลุ่มของนักลงทุน จากประเทศจีนที่เข้ามาในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้อาจจะให้ความสนใจกันที่ตลาดคอนโดมิเนียมมากกว่าอย่างอื่น แต่ ณ ปัจจุบันนักลงทุน นักธุรกิจจากประเทศจีน เข้ามาในประเทศไทยเพื่อทำธุรกิจหรือลงทุนในกิจการเยอะมากๆ ถ้าพิจารณาถึงสถิติหรือตัวเลขแบบเป็นทางการ จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกแบบชัดเจน เช่น ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเห็นได้ชัดเจน
นิติบุคคลสัญชาติจีน มีการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น สังเกตได้จากจำนวนของเงินทุนจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศอื่นๆ ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แต่สำหรับนิติบุคคลสัญชาติจีนแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าช่วงสิ้นเดือนมีนาคมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ประมาณ 3.5% จากช่วงสิ้นปี 2567 ในขณะที่สิงคโปร์เพิ่มขึ้นประมาณ 3.4% และญี่ปุ่นลดลงไปประมาณ 0.1% นิติบุคคลสัญชาติญี่ปุ่นอาจจะมีการลงทุนมากกว่าสัญชาติอื่นๆ ในประเทศไทย แต่เป็นการเข้ามาลงทุนนานแล้ว และนานกว่านักลงทุนต่างชาติสัญชาติอื่นๆ มาก แต่ก็มีการถอนการลงทุน ยกเลิก หรือย้ายไปประเทศอื่นบ้างในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่นักลงทุนจากประเทศอื่นๆ เข้ามาลงทุนหรือจัดตั้งนิติบุคคลในประเทศไทยมากขึ้น
นิติบุคคลสัญชาติจีนในประเทศไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2568 มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 31,572 แห่งโดยมีทุนจดทะเบียนรวมทั้งหมด 437,466.78 ล้านบาท และที่น่าสนใจ คือ คนจีนนิยมเปิดนิติบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์ “การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย” โดยมีจำนวน 2,674 แห่งและมีทุนจดทะเบียนมากถึง 15,487 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนรวมคิดเป็นสัดส่วนรวมอาจจะไม่เยอะ แต่จำนวนนิติบุคคลนั้นเยอะมากๆ กลุ่มนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจคอนโดมิเนียมปล่อยเช่าหรือที่นำมาเป็นโรงแรมก็เป็นไปได้
เห็นการเข้ามาของนักลงทุนหรือนักธุรกิจสัญชาติจีนมากขึ้นแล้วตอนนี้ แต่สิ่งที่ตามมาของการเปิดนิติบุคคลสัญชาติจีน คือ จำนวนของคนจีนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยที่มากขึ้นแน่นอน และมากขึ้นแบบน่าสนใจด้วย เพราะเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาหลายปีติดต่อกัน จำนวนของชาวจีนที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดมากๆ และมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกในปีนี้ ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของนิติบุคคลสัญชาติจีนที่เข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นตจั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า พวกเขาคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และคงมีเรื่องของกำแพงภาษีมาเป็นนโยบายหลักอีกครั้ง พวกเขาจึงเลี่ยงที่จะเจอปัญหานี้ ด้วยการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งไทยก็เป็น 1 ในหมุดหมายสำคัญของนักลงทุนสัญชาติจีนหรือนักลงทุนต่างชาติอื่นๆ ที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน
โดย 1 ในธุรกิจที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า มีชาวจีนเข้ามาลงทุนหรือทำกิจการมากขึ้นเพียง แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่างชาติ แต่มีกรรมการนิติบุคคลเป็นคนไทย และถือหุ้นส่วนในนิติบุคคลนั้นมากกว่าคนจีน คือ ธุรกิจการพัฒนาโครงการอสังหาฯ
การเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อคนจีนในประเทศไทยส่งผลให้นักลงทุนชาวจีน และบริษัทอสังหาฯขนาดใหญ่จากประเทศจีน เข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการในประเทศไทย เพื่อรองรับกำลังซื้อคนจีนโดยเฉพาะ บริษัทเหล่านี้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลไทยแต่มีกรรมการและผู้ถือหุ้นเป็นคนจีน ซึ่งสุดท้ายอำนาจในการตัดสินใจของบริษัทอาจจะอยู่ในกลุ่มของกรรรมการคนจีน คนไทยที่มีชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นอาจจะไม่ได้มีอำนาจ หลายโครงการที่พัฒนาโดยบริษัทเหล่านี้ ไม่ได้ไปต่อ หรือยกเลิกโครงการไปแล้ว เพราะปัญหาในเรื่องของการเงิน แม้ว่าจะรวบรวมได้ไม่ครบแต่ก็พอเห็นภาพได้ว่า คนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยไม่น้อยเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ตัวเลขหรือสถิติต่างๆ ข้างต้น เป็นข้อมูลจากหน่วยงานราชการ และเป็นข้อมูลที่มีการเปิดเผยแบบชัดเจน แต่มีข้อมูลอีกประเภทที่ไม่ได้เปิดเผยขนาดนั้นหรือเป็นข้อมูลที่เปิดเผยในวงแคบๆ เท่านั้น ซึ่งอาจจะหาข้อมูลได้ลำบาก แต่จากที่ติดตามข่าวสาร หรือการบอกเล่าของคนในหลายธุรกิจรวมไปถึงในหลายๆ กิจการมีหลายธุรกิจที่คนจีนรุกเข้าไปและเห็นได้ชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่
การศึกษา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัย 3 แห่งที่มีเจ้าของใหม่เป็นคนจีนแล้ว คือ มหาวิทยาลัยชินวัตร มหาวิทยาลัยเกริก และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด อาจจะมีบางมหาวิทยาลัยที่อยู่ระหว่างการเจรจาหรืออาจจะซื้อขายกิจการกันไปแล้ว แต่ใช้ผู้บริหารชุดเดิมเพื่อคงภาพลักษณ์และรักษากลุ่มลูกค้าคนไทยไว้ แต่ทยอยเพิ่มกลุ่มนักศึกษาจีนเข้าไปเรื่อยๆ ซึ่งเจ้าของกิจการเดิมอาจจะพอใจเพราะว่าสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติม เพราะนักศึกษาจีนนอกจากมาเรียนหนังสือแล้วยังต้องการที่อยู่อาศัยและปัจจัยอื่นๆ ในการพักอาศัยด้วย สถาบันการศึกษาระดับรองลงมาก็เช่นกันที่มีเจ้าของเป็นคนจีน เพราะปัจจุบันคนจีนลือกที่จะส่งบุตรหลานมาเรียนหนังสือในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่างๆ ต่ำกว่าในประเทศจีน คุณภาพการศึกษาก็ไม่ด้อยกว่าต่างประเทศ หลายๆ สถาบันการศึกษาในประเทศไทยก็มีการออกไปทำการตลาดหรือประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศโดยเฉพาะในจีน ฮ่องกง และไต้หวัน
ก่อสร้าง ปัจจุบันมีกลุ่มของคนจีน ที่เข้ามาทำงานประเภทรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทยไม่น้อย ทั้งที่เข้ามาแบบเปิดเผยโดยการเปิดกิจการ ตั้งนิติบุคคลซึ่งบริษัทหรือนิติบุคคลแบบนี้มีเยอะ แต่ก็ทำทุกอย่างภายใต้กฎหมายไทยและเสียภาษีหรือดำเนินกิจการต่างๆ ตามระเบียบปฏิบัติทั่วๆ ไป แต่มีกลุ่มคนจีนที่อาจจะเข้ามาแบบไม่เปิดเผย โดยมาในนามบุคคล(จีนเทา) ที่มีเงินทุนแล้วเข้ามารับงานก่อสร้างจากคนจีนด้วยกันเอง ซึ่งอาจจะไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลไทยก็ได้ เพราะทั้งผู้ว่าจ้าง และผู้รับงานล้วนเป็นคนจีน หรืออาจจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลไทยที่มีคนจีนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจแล้วรับงานทั่วๆ ไปในพื้นที่ต่างจังหวัด รับทั้งงานจากผู้ว่าจ้างคนจีน และคนไทย ซึ่งอาจจะมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพในการก่อสร้าง และการใช้ทั้งคนงาน ผู้ควบคุมงานคนจีนทั้งหมด มีคนไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่งตามกฎหมายในการขออนุญาตก่อสร้างเท่านั้น อาจจะมีการใช้วัสดุก่อสร้างจากประเทศจีนบ้างแต่ก็คงไม่สามารถนำเข้ามาได้ทั้งหมด เพราะไม่ได้ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ยังคงต้องใช้ของในประเทศบ้าง แต่ผู้รับเหมากลุ่มนี้เข้ามาทำงานแย่งงานคนไทยแน่นอน
นิคมอุตสาหกรรม/โกดัง ภาคอุตสาหกรรมก็เป็นอีกภาคที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนเยอะมาก ทั้งจากตัวเลขการอนุญาตส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ (BOI) จำนวนเงินลงทุนของนักลงทุนสัญชาติจีนขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์ไปแล้วในปีพ.ศ.2567 มากกว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มนี้คือการเข้ามาลงทุนในรูปแบบทั่วๆ ไป เพราะขออนุญาตผ่าน BOI แต่มีกลุ่มของนักลงทุนบางกลุ่มที่เข้ามาจัดตั้งนิติบุคคลไทยแล้วกว้านซื้อที่ดินจากนั้นลงทุนพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือโครงการที่เป็นโกดังสินค้าเองเพื่อรองรับกลุ่มของนักธุรกิจจีน ซึ่งทุกขั้นตอนเป็นการตัดสินใจ ลงทุน ขาย จัดการต่างๆ ภายใต้กระบวนการที่มีคนจีนดำเนินการผ่านคนไทยทั้งหมด นิติบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินจริงๆ แล้วเจ้าของที่แท้จริงก็คือคนจีน การเกิดขึ้นของโครงการลักษาณะนี้ที่พบเจอมากที่สุด คือ พื้นที่ EEC
การเกษตร นักลงทุนหรือนักธุรกิจจีนอีกกลุ่มที่เข้ามาในประเทศไทยนานแล้ว คือ กลุ่มที่เข้ามาลงทุนเพื่อซื้อผลไม้ต่างๆ ในประเทศไทยไปขายในประเทศจีน โดยเฉพาะทุเรียนที่พวกเขาเข้ามาถึงเจ้าของสวนทุเรียนโดยตรง ซึ่งขั้นตอนในช่วงแรกจะเป้นการเข้ามาร่วมลงทุนกับกลุ่มพ่อค้าคนกลางหรือ ”ล้ง” ที่รับซื้อทุเรียนหรือผลไม้จากสวนต่างๆ ซึ่งเจ้าของล้งต่างๆ ก็ยินดีที่จะร่วมลงทุนด้วยอยู่แล้ว เพราะจะได้ขายง่ายขึ้น ไม่ต้องเอาไปเร่ขายแบบที่ผ่านมา แต่ด้วยความที่คนจีนมีเงินทุนมากกว่า เมื่อร่วมทุนกันสักระยะจะบอกว่ามีออเดอร์เข้ามามากขึ้นต้องใช้เงินในการซื้อของมากขึ้น คนไทยที่ร่วมลงทุนก็จะต้องหาเงินมาลงเพิ่มขึ้นถ้าไม่ได้ก็จะต้องเสียสัดส่วนในการลงทุนให้กับคนจีนไป ซึ่งการเพิ่มสัดส่วนการร่วมลงทุนอาจจะมีมาเรื่อยๆ จนคนไทยต้องยอมขายหรือกกิจการตนเองให้คนจีนไปในที่สุดหรือกลายเป็นลูกจ้าง หรือกลายเป็นเพียงนอมินีในนิติบุคคลเท่านั้น คนจีนที่ลงทุนในธุรกิจการเกษตรแบบนี้นอกจากจะซื้อของไปขายแล้วยังซื้อที่ดินควบคู่ไปด้วย โดยถือครองผ่านนิติบุคคลไทยที่มีนอมินีไทยหรือภรรยาคนไทย หรือคนไทยที่เคยร่วมลงทุนด้วยกันเป็นผู้ถือหุ้นตามกฎหมาย เรื่องนี้อาจจะเห็นได้เยอะในภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคเหนือของไทย
ค้าปลีก ก่อนหน้านี้พ่อค้า แม่ค้าชาวไทยที่ขายสินค้าบางอย่างอาจจะซื้อสินค้าหรือสั่งสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาขายในประเทศไทย ซึ่งทำแบบนี้กันมานานหลาย 10 ปี แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมากลุ่มของนักลงทุน นักธุรกิจชาวจีนเข้ามาขายสินค้าเอง หาเช่าอาคารพาณิชย์ แผงขายสินค้าเองโดยตรง ไม่สนใจที่จะส่งสินค้าให้คนไทยขายอีกต่อไปแล้ว เพราะสินค้าในประเทศจีนล้นตลาด เหลือค้างในสต้อกเยอะมากการเร่งระบายสินค้าออกไปจากสต้อกทุกวิถีทางจึงเกิดขึ้น ประกอบกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ กลุ่มของพ่อค้า แม่ค้าชาวจีน จึงเข้ามาในไทยเยอะมากๆ ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา หรือหลังจากช่วงโควิด-19 ที่เห็นได้แบบชัดเจน กลุ่มของคนจีนที่เข้ามาในรูปแบบนี้จะเห็นได้ชัดในพื้นที่ย่านขายส่งสินค้าจำนวนมาก เช่น สำเพ็ง พาหุรัด โบ๊เบ๊ ประตูน้ำ เป็นต้น
โรงแรม โรงแรมขนาดเล็กที่เป็นอาคารขนาดไม่ใหญ่ จำนวนห้องพักไม่เยอะแถวรัชดาภิเษกมีหลายแห่งที่เปลี่ยนชื่อ เพราะมีเจ้าของใหม่เป็นคนจีนไปแล้ว เนื่องจากเจ้าของเดิมทำต่อไม่ไหว หลังจากที่เจอปัญหาต่างๆ ช่วงโควิด-19 แล้วได้รับข้อเสนอจากนักลงทุนชาวจีน กลุ่มของนักลงทุนชาวจีนจะเข้าไปเสนอว่าจะขอซื้อหรือร่วมลงทุน จากนั้นจะนำระบบการขายห้องพักที่เข้าถึงกลุ่มคนจีนโดยตรงมาใช้กับโรงแรมที่พวกเขาเข้าไปลงทุนทันที โรงแรมเหล่านี้จะมีอัตราการเข้าพักที่สูงขึ้นมากทันที เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน อาจจะมีชาวต่างชาติอื่นๆ บ้างแต่น้อยมากๆ โรงแรมอื่นๆ ในพื้นที่หรือทำเลเดียวกันอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องของอัตราการเข้าพักก็อาจจะทยอยเปิดการเจรจากับกลุ่มของนักลงทุนจีนด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งสุดท้ายแล้วกลุ่มนักลงทุนจีนที่อาจจะมีนิติบุคคลไทยจะกลายเป็นเจ้าของโรงแรมในพื้นที่นั้นๆ ทั้งหมด
การเข้ามาของนักลงทุนจีนในธุรกิจต่างๆ ตามที่กล่าวไปแล้วนั้น อาจจะยังมีต่อเนื่องในบางธุรกิจ แต่บางธุรกิจ เช่น รับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ นิคมอุตสาหกรรม/โกดัง หรือการเกษตรอาจจะทำได้ยากขึ้น เพราะมีการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้นเพราะทั้งกรมที่ดินและกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีการประกาศความร่วมมือในการตรวจสอบร่วมกัน บางธุรกิจที่มีความคลุมเครืออาจจะหยุดหรือชะลอการจดทะเบียนนิติบุคคลในไทยไปก่อน เป้าหมายหลักๆ ของกลุ่มนักลงทุนหรือนักธุรกิจจีนที่ตั้งใจเข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทย คือ การถือครองอสังหาริมทรัพย์ และพักอาศัยในประเทศไทยยาวๆ เนื่องจากการทำธุรกิจหรือใช้ชีวิตในจีนค่อนข้างมีข้อจำกัดมาก รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีบุตรหลานวัยเรียน และไม่ต้องการให้บุตรหลานเรียนในระบบการศึกษาของประเทศจีนก็เลือทกี่จะเข้ามาเปิดธุรกิจในประเทศไทยแล้วขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยเพื่อที่จะได้อยู่ในไทยได้นานขึ้นกว่าวีซ่าท่องเที่ยว ซึ่งช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมามีการตั้งนิติบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์แอบแฝงแบบนี้เยอะมากขึ้นในไทย ก็หวังว่าหน่วยงานราชการ หรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ จะมีความเข้มงวดและตรวจสอบที่จริงจังมากขึ้น เพื่อรักษาสิทธิของคนไทยในระยะยาว.