“เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ฯ รับผลกระทบนโยบายภาษีทรัมป์และหลายปัจจัยลบรุมเร้าส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน โบรกฯประเมินภาคเซมิคอนดักเตอร์ผลิตและประกอบกระจายอยู่ในหลายประเทศ เชื่อ การเก็บภาษีอาจฉุดออเดอร์หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมชะลอตัวลงช่วงครึ่งหลังปี68 โบรกฯ ประสานเสียงปรับราคาหุ้นและกำไร DELTA ลง จากผลกระทบ reciprocal tariff พร้อมแนะนำต่างมุมมอง“ ซื้อ-ถือ-ขาย” ล่าสุดหุ้น DELTA ราคาวิ่งสวนดัชนีหุ้นที่ดิ่งลึกกว่า 50 จุด
หุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตัวใหญ่สุด เรียกว่าอยู่ในช่วงขาลงเต็มตัว หลังราคาหุ้นสร้างจุดต่ำสุดเป็นรายวัน ล่าสุดเมื่อ 4 เม.ย.ลงมาปิดที่ 56.75 บาท และมีแนวโน้มที่จะทรุดลงต่อ เพราะผลกระทบการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ เพราะ DELTA เคยพุ่งขึ้น สร้างจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 173.50 บาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เกตแคป 2.16 ล้านบาท เป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีหุ้นสูงที่สุด ขณะที่ค่าพี/อี เรโชพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 100 เท่า แต่หลังจากราคาพุ่งทุบสถิติแล้ว หุ้นก็เริ่มปรับตัวลง
โดยหลายปัจจัยลบถาโถมใส่ เริ่มตั้งแต่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดหุ้นแนสแดกปรับตัวลง เพราะผลประกอบการทำให้นักลงทุนผิดหวัง หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจึงปรับลงตาม ขณะที่ผลประกอบการหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไทยปี2567 ไม่สดใสนัก รวมทั้ง DELTA เพราะกำไรเติบโตเพียงเล็กน้อย อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังลดอิทธิพลของหุ้น DELTA ในการชี้นำดัชนีฯ โดยจำกัดน้ำหนักการคำนวณไม่เกิน 10% จากที่มีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีฯ สูงกว่า 13%
นอกจากนี้ มีข่าวร้ายอีกระลอก นั่นคือรัฐบาลประกาศใช้ภาษี GLOBAL MINIMUM TAX โดยบริษัทข้ามชาติที่มียอดรายได้เกิน 75,000 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของ DELTA และที่ถล่มซ้ำอีกคือการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 37% ของประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ซึ่งไม่เพียงทำให้ตลาดหุ้นทั้งโลกพังครืนลงมาเท่านั้น แต่ยังทุบให้หุ้น DELTA ดิ่งจมดิน จากราคาสูงสุดในรอบปี และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 173.50 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายเมื่อวันศุกร์ที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา หุ้น DELTA ลงไปต่ำสุดที่ 56.25 บาท ลดลงจากจุดสูงสุดถึง 117.25 บาท
โดยจากราคาหุ้นที่ต่ำลง ส่งผลให้มาร์เกตแคปลดเหลือเพียง 7.07 แสนล้านบาท หรือลดลงกว่า 1.4 ล้านล้านบาท และตกชั้นกลายเป็นหุ้นที่มีมาร์เกตแคปสูงเป็นอันดับ 2 รองจาก บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ที่มีมาร์เกตแคป 8.99 แสนล้านบาท
ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์สำนักต่างๆ ปรับลดราคาเป้าหมายหุ้น DELTA เพราะข่าวร้ายพุ่งเข้าใส่ไม่ขาดสาย ส่งผลให้ราคาหล่นมาที่ 56.75 บาท ทำให้ค่า พี/อี เรโชลดฮวบลงมาเหลือ 31 เท่า ซึ่งยังสูงแต่ไม่สูงลิบลิ่วเหมือนตอนที่ราคาหุ้นยังเฟื่องฟู จนค่า พี/อีเรโชแตะ 100 เท่า ดังนั้น ทำให้มองอนาคตของ DELTA เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย 37% ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น DELTA ที่รอบนี้จะต้องมารอดูว่าจะไหลลงไปลึกที่ราคาเท่าใด
อย่างไรก็ดีเมื่อ 8 เม.ย.ที่ผ่านมาหุ้น DELTA กลับวิ่งสวนตลาดที่วันดังกล่าว ดัชนีหุ้นไทยดิ่งลงถึง 47.73 จุด หรือลดลง 4.24% โดยหุ้น DELTA ปิดตลาดช่วงเช้าที่ 57.50 บาท มูลค่าซื้อชาย 270.10 ล้านบาท และช่วงบ่ายเวลา 14.40 น. ราคาขึ้นไปแตะ 59.75 บาท เพิ่มขึ้น 3 บาทหรือ 5.29% มูลค่าการซื้อขาย 1,752.58 ล้านบาท เป็นการพลิกกลับมาวิ่งเขียวสวนทางตลาดหุ้นกระดานแดงเถือก เมื่อปิดตลาดหุ้น DELTA อยู่ที่ 59.50 บาท เพิ่มขึ้น 2.75 บาท หรือ 4.85 % มูลค่าซื้อขาย 2,664.10 ล้านบาท ซึ่งการที่หุ้น DELTA ขยับขึ้น ถือเป็นการช่วยให้ตลาดหุ้นไม่ดิ่งลึกหนักมากกว่าที่เห็น
ภาษีสูง ฉุดออเดอร์อิเล็กฯ
บล.ทิสโก้ เผยมุมมองต่อหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ว่า จากกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศภาษีตอบโต้ กลุ่มประเทศที่ขาดดุลการค้าไปเมื่อเช้าวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ประเมินว่าอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ส่งออกหลักในเอเชีย ภาคเซมิคอนดักเตอร์มีลักษณะเป็นโลกาภิวัตน์สูง โดยมีการผลิตและประกอบกระจายอยู่ในหลายประเทศ ดังนั้น การเก็บภาษีอาจทำให้อุตสาหกรรมชะลอตัวลงช่วงครึ่งหลังปี 68
โดยสินค้าบางรายการจะไม่อยู่ภายใต้ภาษีตอบโต้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเซมิคอนดักเตอร์ ที่จะถูกกแต่ยังไม่ชัดเจนว่าการยกเว้นจะครอบคลุมมากน้อยเพียงใด จากปัจจัยดังกล่าวทำให้มองว่า DELTA มีความเสี่ยงการส่งออกโดยตรงไปยังสหรัฐฯ สูงที่สุดที่ 29% ตามด้วย HANA 24% , KCE 20% และ SVI 10% ทั้งนี้ DELTA, HANA และ SVI มีโรงงานผลิตในต่างประเทศจึงอาจสามารถย้ายฐานการผลิตเพื่อลดผลกระทบได้
ทั้งนี้ ภาษีใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอัตรา 25% บนรถยนต์โดยสาร รถบรรทุกขนาดเล็ก และชิ้นส่วนยานยนต์บางส่วนที่นำเข้าโดยสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อ KCE มากที่สุด เนื่องจากรายได้จากส่วนยานยนต์คิดเป็น 80% ของรายได้รวมของ KCE ตามด้วย DELTA ที่ 31% ของรายได้รวม เนื่องจากความซับซ้อนในห่วงโซ่อุปทาน จึงยากที่จะระบุการแบ่งส่วนที่ชัดเจนของการส่งออกของ KCE ไปยังสหรัฐฯ และหากสันนิษฐานว่าความเสี่ยงทั้งหมดต่อสหรัฐฯ เกี่ยวข้องกับยานยนต์ KCE ยังคงมีความเสี่ยงสูงสุดต่อภาษีที่ 16% ของรายได้รวม (รวมการส่งออกทางอ้อม) ตามด้วย DELTA ที่ 9%, HANA ที่ 5% และ SVI ที่ 1%
ปรับราคาหุ้นลง แนะ "ขาย"
บล.เอเซีย พลัส ประเมินหุ้น DELTA หรือ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประสบผลกระทบอย่างหนัก ทั้งจากการเติบโตที่ไม่เป็นไปตามคาด ล่าสุดเจอปัญหากำแพงภาษีสหรัฐที่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยกว่า 37% เพราะ DELTA เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในประเทศไทย เคยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดพุ่งสูงถึง 2 ล้านล้านบาท กำลังเผชิญกับปัจจัยร้ายเข้ามารุมเร้า ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์เมื่อ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ตามราคาตลาดหุ้นของ DELTA ลดลงจากต้นปีที่ 1.73 ล้านล้านบาท เหลือ 7.54 แสนล้านบาทหรือลดลง 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นลดลง 55% เนื่องจาก DELTA กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ครั้งใหม่จากกำแพงภาษีสหรัฐ ล่าสุด DELTA มีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐ 24% จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากกำแพงภาษี
โดย บล.เอเซีย พลัส คาดกำไรของ DELTA งวดไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ที่ราว 4.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 115% จากไตรมาสก่อน หรือเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน ซึ่งกำไรโตแรงจากไตรมาสที่ 4 เพราะปลายปี 2567 มีค่าใช้จ่ายพิเศษราว 2.8 พันล้านบาท ส่วนกำไรที่เติบโตจากปีก่อนคาดว่ายอดขายจะยังโตได้ราว 9% จากปีก่อน เป็น 4.2 หมื่นล้านบาท หนุนโดยสินค้าเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับ AI และดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งสร้างมาร์จิ้นสูง จึงช่วยให้มีอัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) โดยรวมที่สูงขึ้นด้วย แม้แนวโน้มช่วงไตรมาส 2 ของปี 2568 คาดว่ากำไรจะทยอยปรับตัวสูงขึ้น ตามยอดขายสินค้าสำหรับ AI และดาต้าเซ็นเตอร์ที่ยังมีแนวโน้มเติบโต จากการสั่งซื้อล่วงหน้าของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการของทรัมป์ที่จะเก็บภาษีตอบโต้ (36%) สำหรับสินค้าจากไทย จะกระทบ DELTA ในระยะถัดไป เนื่องจากบริษัทมีการส่งออกไปสหรัฐ 26% ของยอดขาย และบริษัทเองยังไม่ประกาศแผนรับมือในเรื่องนี้ คาดกำไรไตรมาสแรกจะมีสัดส่วนราว 23.4% ของคาดการณ์กำไรทั้งปี แต่ประมาณการปี 2568-69 ที่ 2.0 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน และ 2.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน อาจมี downside จากยอดขายช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568
ทั้งนี้ ภายใต้ประมาณการเดิมได้ปรับลดการอิง P/E ลงจากเดิม 56.5 เท่า (-0.25 S.D) เหลือ 39.7 เท่า (-2.0 S.D) เพื่อสะท้อนความเสี่ยงจากผลกระทบของภาษีตอบโต้จากสหรัฐ ทำให้ราคาเป้าหมายปี 2568 ปรับลดจาก 90 บาท เหลือ 63 บาท ปรับคำแนะนำจากเดิม “Neutral” เป็น "Underperform"
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะ “ขาย” หุ้น DELTA คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าในระยะถัดไปและคาดว่ากำไรไตรมาสแรก 3.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 7% จากปีก่อน มาจากฐานต่ำที่มีรายการพิเศษกดดัน ซึ่งกำไรที่ไม่เติบโตมาจากแรงกดดันด้านภาษี และเป็นการไม่เติบโตจากปีก่อนสองไตรมาสติดต่อกัน จึงปรับลดประมาณการกำไรปกติปี 68-69 ลง 9% และ 15% ตามลำดับ คาดกำไรปกติปีนี้ 1.8 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 1% จากปีก่อน และยังปรับลด Multiple ลงเป็น 1.0SD จากเพิ่ม 0.25SD ปรับลดราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 68 เป็น 45 บาท
ประเมินกำไรลด ให้ “ถือ-ซื้อ”
บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) วิเคราะห์ หุ้น บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA มองว่ามีประเด็นความไม่แน่นอน ทั้งอัตราการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้งานที่ช้าลง, ผลกระทบจากมาตรการภาษี ซึ่งอาจจะทำให้ลูกค้าเลื่อนคำสั่งซื้อสินค้าของ DELTA มองว่าผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมจากมาตรการภาษี ซึ่งสหรัฐมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากทุกประเทศรวมถึงไทยด้วย 36% ฝ่ายวิจัยจึงได้ปรับลดประมาณการยอดขายลง 4% และอัตรากำไรขั้นต้นลง 30 bps เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงดังกล่าว
โดยได้ปรับลดประมาณการกำไรปี 2568-2569 ของ DELTA ลง 7% และยังได้ de-rate PER จาก 46 เท่า (ค่าเฉลี่ยในอดีต) เหลือ 40 เท่า เพื่อสะท้อนถึงประเด็นความไม่แน่นอน จึงได้ปรับลดราคาเป้าหมายสิ้นปี 2568 ลงเหลือ 52 บาท จากเดิมที่ 65 บาท ถึงแม้ราคาปิดเมื่อวันศุกร์ล่าสุดจะมี downsideจำกัดจากราคาเป้าหมาย แต่ฝ่ายยังแนะนำให้นักลงทุนรอดูสถานการณ์ไปก่อนเพื่อติดตามบทสรุปของนโยบายภาษีสหรัฐ และ ผลกระทบ, ความคืบหน้าของการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้หลังการปรับสมดุลระหว่างอุปสงค์ และ อุปทาน และผลกระทบจากนโยบาย Global minimum tax หรือ GMT ดังนั้น จึงยังคงคำแนะนำ “ถือ” DELTA
สำหรับผลงานไตรมาสแรกปี 68 ของ DELTA บล.เคจีไอ คาดว่าจะมีกำไรหลักอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนแต่ลดลง 86% จากไตรมาสก่อนคิดเป็น 22% ของประมาณการกำไรเต็มปีนี้ที่ 1.75 หมื่นล้านบาท ซึ่งกำไรไตรมาสแรกปีนี้ทรงตัว เพราะค่าใช้จ่ายภาษีที่เพิ่มขึ้นจากนโยบาย GMT หักล้างไปกับยอดขาย และอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น ส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย เพราะอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น เพราะไม่มีการปรับวัตถุดิบ, rebase ไปที่ลูกค้า data center และ การตั้งสำรองสินค้าที่มี defect, ค่าใช้จ่าย SG&A ลดลงเพราะไม่ต้องจ่ายค่า royalty fee
บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุถึง DELTA คาดไตรมาสแรกปี 68 กำไรสุทธิ 4,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% เทียบปีก่อน มีรายได้สูงขึ้น มี GPM รับตัวดีขึ้นจากสินค้า AI เข้ามาเพิ่มขึ้น และยังไม่เห็นการตั้งค่าเผื่อสินค้าและการรับลดมูลค่าวัตถุดิบเหมือนที่ผ่านมา, เพิ่มขึ้น 105.3% เทียบไตรมาสก่อน จาก SG&A to sales ลดลง เนื่องจากในไตรมาส 4 ปี 67 มีการเร่งค่าใช้จ่ายย้อนหลังและตั้ง Accrued R&D ปัจจุบันแนะนำ “ซื้อ” แต่อาจมีแนวโน้มปรับราคาพื้นฐานลงจากผลกระทบ reciprocal tariff หลังประชุมฯ
โดยคาดกำไรไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มขึ้นทั้งเทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน และ คาดรายได้ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐสูงขึ้นจากปีก่อน จากรายได้ส่วนของ Data center & AI ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ทรงตัวเทียบไตรมาสก่อน และมีรายได้ลดลงจาก DC/DC conversion circuit ที่ถูกศาลสั่งให้หยุดขายในสหรัฐฯ แต่ทดแทนด้วยสินค้า AI พัฒนาจากเยอรมนีเพิ่มขึ้น มีค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 33.9 บาท/ดอลลาร์ รายได้ในรูปเงินบาท 41,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% จากปีก่อน แต่ลดลง 1.8% จากไตรมาสก่อน , GPM 25.0% สูงขึ้นจากปีก่อน จากสินค้า AI มากขึ้นกว่าเก่าและไตรมาสแรกปี 67 มีการตั้งค่าเผื่อสินค้าและการรับลดมูลค่าวัตถุดิบ, และสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการรับ standard cost ทุกต้นไตรมาส ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง มี SG&A to sale 13.8% สูงขึ้นจากปีก่อน จาก royalty fee ที่ถูกรับเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากใน 4 ปี 67 มีการเร่งค่าใช้จ่ายย้อนหลังและตั้ง Accrued R&D และภาษีที่เพิ่มขึ้น (GMT) กำไรสุทธิ 4,425 ล้านบาท 2.7% จากปีก่อนและเพิ่มขึ้น 105.3% จากไตรมาสก่อน
ดังนั้น มีแนวโน้มปรับราคาลงจากราคาพื้นฐาน 94.00 บาท ให้คำแนะนำ “ซื้อ” แต่อาจมีแนวโน้มปรับราคาพื้นฐานลงจากผลกระทบ reciprocal tariff