รมช.คลัง เผยครม.มีมติอนุมัติมาตรการกระตุ้นอสังหาฯลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองเหลือ 0.01% กลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทบ้าน-คอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ควบคู่ LTV หวังกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ เครื่องจักรสำคัญช่วยดันตัวเลขจีดีพี “แสนสริ”ชี้มาตรการมาช้าตลาดอาจฟื้นได้ไม่มากนัก
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ เหลือ 0.01% จากปกติ 1% สำหรับการซื้อขายอสังหาฯ ประเภทอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว หรือห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังต้องการกระตุ้นภาคอสังหาฯ โดยบรรเทาปัญหาอุปทานคงค้างที่อยู่ในระดับสูง จึงกำหนดระยะเวลามาตรการนี้ให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV โดยให้มาตรการนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 30 มิ.ย. 69 ซึ่งจากข้อมูลในอดีต เมื่อ 2 มาตรการนี้ทำงานควบคู่กัน ในช่วงเวลาเดียวกัน จะส่งผลบวกต่อภาคอสังหาฯอย่างมาก
“ภาคอสังหาฯมีความสำคัญและมีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต ทั้งความเชื่อมโยงไปข้างหน้า ไปยังภาคการผลิตต่าง ๆ เช่น สาขาการค้า สถานที่เก็บสินค้าและบริการสินค้า บริการทางการเงิน การประกันชีวิต วิทยุ และโทรทัศน์ บริการบันเทิงและบริการส่วนบุคคล และมีผลต่อความเชื่อมโยงไปข้างหลัง เช่น สาขาการผลิตเหล็ก การผลิตซีเมนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต โรงเลื่อย การผลิตโลหะ การผลิตเครื่องจักร เป็นต้น
นายสุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟิลด์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาสารพัดที่มีผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในปี68 โดยเฉพาะเรื่องของการขอสินเชื่อธนาคารของกลุ่มลูกค้าระดับกลางลงไปผู้ประกอบการภาคอสังหาฯพยายามเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลมาตลอดตั้งแต่ตอนต้นปี โดยเฉพาะเรื่องของLTV และเรื่องการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนองที่หมดอายุสิ้นปี67 เพราะมาตรการนี้เป็นการลดค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อโดยตรง และ มีส่วนช่วยให้เกิดการโอนกรรมสิทธิ์มากขึ้นช่วงปลายปี67
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลยังคงไม่ได้ตอบสนองเรื่องของมาตรการช่วยเหลือใดๆ แต่ปรากฎว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกลับประกาศยกเว้นมาตรการ LTV ทุกระดับราคาชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 1
พฤษภาคม 2568 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569 ซึ่งภาคเอกชนก็ตอบสนองเรื่องนี้เป็นอย่างดี แต่ยังคงเรียกร้องมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองจากรัฐบาลเช่นเดิม
ขณะที่ เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา สร้างผลกระทบต่อตลาดคอนโด โดยเฉพาะที่เป็นอาคารสูงโดยตรง
การโอนกรรมสิทธิ์ของตลาดคอนโดน่าจะได้รับผลกระทบในช่วงนี้ แต่ถ้าผู้ประกอบการต่าง ๆ สร้างความเชื่อมั่น ความปลอดภัยในเรื่องของโครงสร้าง และตัวอาคาร อีกทั้งต้องไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นซ้ำ ความเชื่อมั่นของคนไทยต่ออาคารสูงจะค่อยๆ กลับมา ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาฯก็ยังเรียกร้องมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจากรัฐบาลต่อเนื่องเช่นกัน และวันที่ 8 เม.ย.ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีการอนุมัติมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯด้วยการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน7 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งอาจจะไม่ได้กระตุ้นกำลังซื้อมากนัก โดยเฉพาะภาคคอนโดแต่ตลาดบ้านหรือที่อยู่อาศัยแนวราบ และคอนโดที่เป็นอาคารโลวไรส์ จะได้รับอานิสงค์แน่นอน
แม้ว่าจะกระตุ้นกำลังซื้อไม่ได้มาก หรือไม่ได้แตกต่างจากปีที่แล้วมากนัก แต่ก็คงช่วยให้ภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์ในปี68 ลดลงจากปี 67 ไม่มากนัก ซึ่ง ณ ปัจจุบันอาจจะยังคาดการณ์ยาก เพราะปัจจัยลบบางอย่างเพิ่งเกิดหรือมีผล เช่น แผ่นดินไหว การประกาศเรื่องภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกากับไทย เป็นต้น เรื่องของภาษีมีผลต่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและอาจจะต่อเนื่องมาภาคที่อยู่อาศัยได้เช่นกัน
แสนสิริ ชี้มาตรการมาช้าตลาดอาดฟื้นไม่มาก
นายภูมิภักดิ์ จุลมณีโชติ ประธานผู้บริหารสายงานกลยุทธ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองลง ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับตลาดอสังหาฯ เพราะจะช่วยลดต้นทุนในการซื้อที่อยู่อาศัย และเมื่อรวมกับการผ่อนคลายLTV จะทำให้ภาพรวมอสังหาฯกลับมาเติบโตได้ แต่โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะส่งผลให้ตลาดอสังหาฯพลิกฟื้นได้มากนัก เพราะมาตรการที่ออกมาช้าเกินไป เป็นมาตรการแบบReactive ไม่ใช่Proactive เพราะตลาดอสังหาฯเริ่มเห็นสัญญาณเชิงลบมา1 ปีแล้ว ห่วงโซอุปทานต่าง ๆ ได้รับผลกระทบและบอบช้ำไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนในความพยายามทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น เพราะมาช้ายังดีกว่าไม่มา
เนื่องจากปัญหาปัจจุบันของภาคอสังหาฯ อยู่ที่กำลังซื้อ ซึ่งติดกับดักหนี้ครัวเรือนอยู่ กล่าวคือ ถ้าGDP ไม่เติบโต กำลังซื้อก็จะไม่กลับมา จึงคาดการณ์ว่ามาตรการที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นมากนัก และถ้าถามว่าวันนี้ภาคอสังหาฯต้องการอะไร เราคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เราต้องการให้กำลังซื้อของประชาชนมีมากขึ้น แล้วประชาชนจะมีกำลังซื้อได้อย่างไร คำตอบคือ ธนาคารต้องปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น เศรษฐกิจจะไม่เติบโตถ้าสินเชื่อไม่เติบโต